Editorial Note

Main Article Content

Kalayanee Senasu

Abstract

       วารสารฉบับนี้เน้นสาระสำคัญด้านภาวะผู้นำ เริ่มต้นจากเรื่อง “เพียรพัฒนาตนตามคำพ่อสอน: การศึกษาคุณลักษณะภาวะผู้นำที่ดีจากพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” ของ รศ.ดร. วิชัย อุตสาหจิต ที่นำเสนอผลการศึกษาจากการรวบรวมพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่เกี่ยวข้องกับคุณลักษณะของภาวะผู้นำเพื่อสังเคราะห์ และตกผลึกเป็นคุณลักษณะภาวะผู้นำที่ดีเพื่อเป็นต้นแบบในการส่งเสริมพัฒนาต่อไป ตามมาด้วยการศึกษาความสัมพันธ์ของภาวะผู้นำในแบบต่าง ๆ กับความผูกพันต่อองค์กรของหลายกรณีศึกษา ได้แก่ บทวิจัยของคุณบุญชนะ เมฆโต ซึ่งเป็นกรณีศึกษาในบริษัทผลิตวัสดุบรรจุภัณฑ์แห่งหนึ่ง บทวิจัยของคุณปาณัสม์ ธิติวรธำรง ในบริษัทที่ให้บริการด้านสินเชื่อและบัตรเครดิต และบทวิจัยของ คุณวิภาวรรณ จรัสกุล ในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ผลการศึกษาร่วมกันของงานวิจัยทั้งสามชิ้นยืนยันว่า ภาวะผู้นำมีความสัมพันธ์ด้านบวกต่อความผูกพันของพนักงานในองค์กร และภาวะผู้นำที่มีลักษณะของการนำการเปลี่ยนแปลงและการนำแบบมีส่วนร่วมจะส่งผลต่อความผูกพันองค์กรของพนักงานสูง บทวิจัยสุดท้ายของ ดร. วิศลย์ธีรา เมตตานนท์ ในหัวข้อเรื่อง “การจัดการความรู้ในวิสาหกิจชุมชน: ทางเลือกในการพัฒนาความสามารถในการอยู่รอด” ก็ได้ข้อสรุปอย่างหนึ่งว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการอยู่รอดของวิสาหกิจชุมชน คือ ภาวะผู้นำ ปิดท้ายวารสารฉบับนี้เป็นการเชื่อมโยงการเน้นด้านภาวะผู้นำของวารสารฉบับนี้ เข้ากับหลักสูตรใหม่ที่พัฒนาต่อยอดมาจากหลักสูตรเทคโนโลยีการบริหารเดิมของคณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คือ “หลักสูตรภาวะผู้นำ การจัดการ และนวัตกรรม” ด้วยบทความปริทัศน์จาก รศ.ดร.สมบัติ กุสุมาวลี ที่ได้หยิบยกเรื่องราวเกี่ยวกับการสร้างความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรมของบริษัท พีแอนด์จี ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงและมีชื่อเสียงอย่างมากในการ สร้างนวัตกรรม และสามารถประสบความสำเร็จในการสร้างรายได้ ขยายธุรกิจและทำกําไรจากนวัตกรรม ข่าวดีที่ต้องการประชาสัมพันธ์ให้ผู้อ่านและผู้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนวารสารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์การนี้ก็คือ วารสารเราได้รับการรับรองคุณภาพจากศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทยว่ามีคุณภาพอยู่ในฐานข้อมูล TCI กลุ่ม 1 เรียบร้อยแล้ว และเราตั้งใจที่จะพัฒนาวารสารให้มีคุณภาพที่สูงยิ่งขึ้นต่อไป ดังนั้นจึงขอเชิญชวนนักวิจัย นักวิชาการทุกท่าน ส่งบทวิจัยของท่านมาตีพิมพ์เผยแพร่ผลงาน ร่วมการพัฒนาส่งเสริมงานวิจัยที่มีคุณภาพให้กว้างขวางต่อไป

Article Details

Section
Editorial Note