Editorial Note

Main Article Content

กัลยาณี เสนาสุ

Abstract

วารสารการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์การฉบับนี้มีความหลากหลายในเนื้อหาสาระ รวมทั้งประโยชน์จากระเบียบวิธีวิจัยที่แตกต่างกัน ฉบับนี้ประกอบด้วยบทความวิจัย 4 บทความ บทความวิชาการ 1 บทความ พร้อมกับบทปริทัศน์ปิดท้ายเล่มเช่นเคย เริ่มจากบทความวิจัย 2 บทความแรกที่ใช้สถิติในการวิเคราะห์ด้วย Structural Equation Model (SEM) โดยบทความแรกเป็นการศึกษาถึงอิทธิพลขององค์ประกอบสี่ประการของภาวะผู้นำแบบการประกอบการที่มีต่อการสร้างคุณค่าและผลการดำเนินงานของธุรกิจของคุณวัลลี พุทโสม ผศ.ดร.พรลภัส สุวรรณรัตน์ และ ผศ.ดร.นิติพงษ์ ส่งศรีโรจน์ บทความที่ 2 เป็นการศึกษาถึงตัวแปรที่มาก่อนของการตั้งใจซื้อซ้ำในพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย ของ รศ.ดร.ฉันธะ จันทะเสนา ตามมาด้วยบทความวิจัยที่ 3 ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจของผู้ทำงานในองค์กรจากการนำเสนอกระบวนการในการอธิบายพฤติกรรมการกลั่นแกล้งรังแกกัน ระหว่างผู้บังคับบัญชาที่มีต่อผู้ใต้บังคับบัญชาในที่ทำงาน ของผศ.ดร.กฤตกร นวกิจไพฑูรย์ และ Associate Professor Julia E. Hoch, Ph, D. นอกจากนั้นยังมีประเด็นที่ควรค้นคว้าเชิงสังคมในเรื่องปัจจัยและประโยชน์ในการรับผู้พ้นโทษเข้าทำงานในองค์กร ของคุณนิศา ศิลารัตน์ และรศ.ดร.วาสิตา บุญสาธร ที่นำเสนอมาเป็นบทความที่ 4 ตามมาด้วยบทความวิชาการที่รวบรวมแนวความคิดเกี่ยวกับการพัฒนาสังคมวัฒนธรรมและการพัฒนามนุษย์แบบองค์รวมในสังคมไทย ของคุณพงษ์ทัช จิตวิบูลย์ และรศ.ดร.วันชัย ธรรมสัจการ ปิดท้ายด้วยบทปริทัศน์ของ คุณพิจักษณ์ ภู่ตระกูล ที่ได้มาชวนให้อ่านหนังสือน่าสนใจเรื่อง การวิเคราะห์การทำงานในยุคเศรษฐกิจแห่งความรู้ (Work Analysis in the Knowledge Economy) ของ Professor Ronald Jacobs


เช่นที่เคยได้เรียนผู้อ่านไว้แล้วว่า กองบรรณาธิการตั้งใจที่จะพัฒนาวารสารให้มีคุณภาพที่สูงอย่างต่อเนื่อง นอกจากการใช้ระบบการจัดการและตีพิมพ์วารสารในระบบออนไลน์แล้ว ในวารสารฉบับนี้ยังได้เพิ่มสารสนเทศของระยะเวลาในการรับ (Received) การทบทวนแก้ไข (Revised) ซึ่งบางบทความอาจมีหลายครั้งเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ที่สุด จนมาถึงขั้นตอนการตอบรับ (Accepted) บทความลงตีพิมพ์ในวารสารไว้ด้วย ดังนั้นจึงขอเชิญชวนนักวิจัย นักวิชาการทุกท่าน ส่งบทความวิจัย/บทความวิชาการของท่านมาตีพิมพ์เผยแพร่ผลงาน ร่วมการพัฒนาส่งเสริมงานวิจัย/งานวิชาการที่มีคุณภาพให้เผยแพร่ได้กว้างขวางเพื่อประโยชน์แก่สังคมยิ่งขึ้นต่อไป

Article Details

Section
Editorial Note