ความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับอุดมการณ์ในวาทกรรมความเป็นหญิงในหนังสือเรียนวรรณคดีวิจักษ์ ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น
The Relationship between Language and Ideology in Femininity Discourse in Junior High School’s Literature Appreciation Textbooks
Keywords:
Discourse, Critical Discourse Analysis, FemininityAbstract
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการสื่ออุดมการณ์ความเป็นหญิงผ่านกลวิธีทางภาษาต่าง ๆ ในหนังสือเรียนวรรณคดีวิจักษ์ มัธยมศึกษาตอนต้น โดยใช้แนวคิดวาทกรรมวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ (Critical Discourse Analysis) ของแฟร์คลาฟ (Fairclough, 1995) เป็นกรอบการศึกษาหลักในการวิเคราะห์ตัวบท วิถีปฏิบัติทางวาทกรรม และ วิถีปฏิบัติทางสังคมวัฒนธรรม ผลการศึกษาพบว่า หนังสือเรียนวรรณคดีวิจักษ์ ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ปรากฏอุดมการณ์ความเป็นหญิงที่เด่นชัดทั้งสิ้น 5 อุดมการณ์ คือ 1) อุดมการณ์เกี่ยวกับความงาม 2) อุดมการณ์เกี่ยวกับบทบาทของภรรยา 3) อุดมการณ์เกี่ยวกับผู้หญิงในฐานะวัตถุทางเพศ 4) อุดมการณ์เกี่ยวกับชนชั้นคู่ครอง และ 5) อุดมการณ์เกี่ยวกับกิริยามารยาท ซึ่งอุดมการณ์ดังกล่าวสื่อผ่านกลวิธีทางภาษาต่าง ๆ ได้แก่ 1) กลวิธีทางศัพท์ ประกอบด้วย การใช้ชื่อและการเรียกชื่อ การอ้างถึง และการใช้คำกริยา 2) กลวิธีการขยายความ 3) กลวิธีทางวัจนปฏิบัติศาสตร์และวาทกรรม ประกอบด้วย การใช้มูลบท การใช้วัจนกรรม และการใช้อุปลักษณ์
จากการวิเคราะห์วิถีปฏิบัติทางวาทกรรมของหนังสือเรียนวรรณคดีวิจักษ์ข้างต้นนี้ทำให้เห็นว่ากระบวนการผลิตและบริโภคตัวบทหนังสือเรียนมีความเกี่ยวพันกับอำนาจรัฐและสถานภาพทางสังคมของบุคคลที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งแสดงให้เห็นว่าหนังสือเรียนมีกระบวนการผลิตที่ซับซ้อนเป็นแบบแผนและอยู่ในการควบคุมดูแลของรัฐ หนังสือเรียนจึงเป็นวาทกรรมที่มีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดอุดมการณ์ที่รัฐเห็นว่าเหมาะสมหรือดีงามไปยังผู้เรียนที่เป็นเด็กและเยาวชนเพื่อสร้างสมาชิกที่ พึงประสงค์ของสังคม อุดมการณ์ที่สื่อผ่านกลวิธีทางภาษาในหนังสือเรียนเหล่านี้จึงมีแนวโน้มที่จะมีอิทธิพลและ มีบทบาทสำคัญในการชี้นำสมาชิกในสังคมไปในทิศทางที่รัฐต้องการโดยที่สมาชิกเหล่านั้นอาจไม่รู้ตัว
ในแง่ของการวิเคราะห์วิถีปฏิบัติทางสังคมวัฒนธรรม อุดมการณ์ความเป็นหญิงในหนังสือเรียนวรรณคดีวิจักษ์ ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เป็นผลมาจากแนวคิดปิตาธิปไตยในสังคมไทย ผู้หญิงจึงถูกควบคุมความเป็นหญิงจาก ความคาดหวังของสังคมในมุมที่สังคมต้องการที่จะให้เป็น และอุดมการณ์เหล่านี้ถูกแฝงฝังอยู่ในหนังสือเรียน แม้ในปัจจุบันก็มีชุดความจริงใหม่เพิ่มเติมขึ้นมา เพราะในแง่ของการขัดเกลาและควบคุมเยาวชนผ่านระบบการศึกษานั้นจำเป็นที่จะต้องมีชุดวาทกรรมหลักที่เป็นไปตามโครงสร้างสังคมไทยซึ่งจำเป็นต้องรักษาไว้เพื่อความเป็นปึกแผ่นของสังคม ซึ่งหากนักเรียนในฐานะเยาวชนของชาติไม่มีมุมมองที่รู้เท่าทันชุดวาทกรรมเหล่านี้ที่ถูกผลิตซ้ำก็จะถูกหล่อหลอมและกลายเป็นหนึ่งในกลไกของการผลิตซ้ำอุดมการณ์แบบสังคมชายเป็นใหญ่ต่อไป
คำสำคัญ : อุดมการณ์, วาทกรรม, วาทกรรมวิเคราะห์เชิงวิพากษ์, ความเป็นหญิง
References
กระทรวงศึกษาธิการ, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. (2551). ตัวชี้วัดและสาระการเรียนรู้แกนกลาง กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.
กระทรวงศึกษาธิการ, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. (2559ก). หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐานภาษาไทย วรรณคดีวิจักษ์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ สกสค. ลาดพร้าว.
กระทรวงศึกษาธิการ, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. (2559ข). หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐานภาษาไทย วรรณคดีวิจักษ์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ สกสค. ลาดพร้าว.
กระทรวงศึกษาธิการ, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. (2564). หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐานภาษาไทย วรรณคดีวิจักษ์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ สกสค. ลาดพร้าว.
จันทิมา อังคพณิชกิจ. (2561). Discourse Analysis การวิเคราะห์ข้อความ. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์. (2546). ผู้หญิงกับความรู้ในจักรวาลของผู้ชาย : ความหมาย การมองเห็นโลก และระบอบอำนาจ ความจริง, ผู้หญิงกับความรู้ 1 (ภาค 2). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
นันทิรา ขำภิบาล. (2530). นโยบายเกี่ยวกับผู้หญิงไทยในสมัยสร้างชาติของจอมพล ป. พิบูลสงคราม พ.ศ. 2481 - 2487. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2534). ชาติไทยและเมืองไทยในแบบเรียนประถมศึกษา. ศิลปวัฒนธรรม, 12(10), 142 – 164.
ปราญชลี อินถา (2558). การวิเคราะห์ภาพของความเป็นผู้หญิงในภาพยนตร์ไทยยุคปัจจุบัน. เชียงใหม่ :
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ภพ สวัสดี. (2558). กลวิธีการใช้ภาษาเพื่อสื่ออดุมการณ์ความเป็นผู้หญิงในโฆษณาสินค้าแฟชั่นแบรนด์เนม. วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร ฉบับภาษาไทย, 35(3) : 149-174.
ยศ สันตสมบัติ. (2548). การทำความเข้าใจเพศสถานะและเพศวิถีในสังคมไทย, เพศสถานะและเพศวิถีในสังคมไทย (หน้า 1 – 39). กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
วันทนีย์ วาสิกะสิน และ สุนีย์ เหมะประสิทธิ์. (2541). สังคมไทยคาดหวังอย่างไรกับผู้หญิง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
วิลาสินี พิพิธกุล และ กิตติ กันภัย. (2546). เพศและการสื่อสารในสังคมไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุน การวิจัย.
วิสันต์ สุขวิสุทธิ์. (2554). ความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับอุดมการณ์ในหนังสือเรียนรายวิชาภาษาไทยตามหลักสูตร ประถมศึกษา พ.ศ. 2503-2554 : การศึกษาตามแนววาทกรรมวิเคราะห์เชิงวิพากษ์. วิทยานิพนธ์ปริญญา อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
อภิวันทน์ อดุลยพิเชฏฐ์. (2544). สถานภาพและบทบาทของผู้หญิงและผู้ชายไทยในอดีต: ภาพสะท้อนจาก วรรณกรรมเรื่องขุนช้างขุนแผน. ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาวิชามนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร.
อรทัย เพียยุระ. (2563). เพศสภาวะและเพศวิถีในเสภาเร่ืองขุนช้างขุนแผน. วารสารสังคมศาสตร์และ มานุษยวิทยาเชิงพุทธ, 5(3), 20-33.
Fairclough, N. (1995). Critical discourse analysis : the critical study of language. London: Longman.
Pilcher. J. & Whelehan, I. (2004). 50 key concepts in gender studies. London : SAGE publication.