รูปแบบการบริหารจัดการการประกันคุณภาพภายในเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ภาค 17
คำสำคัญ:
รูปแบบการบริหาร, การประกันคุณภาพภายใน, บริบทของสถานศึกษาบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพปัจจุบันและและสภาพที่พึงประสงค์ในการบริหารจัดการการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ภาค 17 2) สร้างรูปแบบการบริหารจัดการการประกันคุณภาพการศึกษาภายในเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาภาค 17 และ 3) ประเมินความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการนำรูปแบบการบริหารจัดการการประกันคุณภาพภายในเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ภาค 17 โดยดำเนินการวิจัย 3 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาสภาพปัจจุบันและสภาพที่พึงประสงค์ในการบริหารจัดการการประกันคุณภาพภายใน โดยใช้แบบสอบถามในการเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 313 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษาที่จัดการเรียนการสอนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้และประสบการณ์ในเรื่องการประกันคุณภาพภายใน จำนวน 12 คน ขั้นตอนที่ 2 การสร้างรูปแบบการบริหารจัดการการประกันคุณภาพภายใน ตรวจสอบคุณภาพของร่างรูปแบบ โดยผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการประกันคุณภาพภายใน ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และผู้อำนวยการสถานศึกษา จำนวน 5 คน และขั้นตอนที่ 3 การประเมินความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของการนำรูปแบบการบริหารจัดการระบบการประกันคุณภาพภายใน ไปใช้ในการพัฒนา โดยใช้แบบประเมินในการรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 313 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษาที่จัดการเรียนการสอนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่าดัชนีลำดับความต้องการจำเป็น (Modified Priority Needs Index: PNImodified) ส่วนข้อมูลเชิงคุณภาพ ใช้การวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis)
ผลการวิจัย พบว่า 1) สภาพปัจจุบันของการบริหารจัดการการประกันคุณภาพภายในเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ภาค 17 ในภาพรวมมีการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก ส่วนสภาพที่พึงประสงค์ของการบริหารจัดการการประกันคุณภาพภายในเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ภาค 17 ในภาพรวมมีสภาพที่พึงประสงค์ในการปฏิบัติอยู่ในระดับมากที่สุด 2) รูปแบบการบริหารจัดการการประกันคุณภาพภายในเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ภาค 17 ประกอบด้วย 8 องค์ประกอบ คือ (1) กำหนดมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา (2) จัดทำแผนพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษาที่มุ่งคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษา (3) จัดระบบบริหารและสารสนเทศ (4) ดำเนินงานตามแผนพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษา (5) จัดให้มีการติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา (6) จัดให้มีการประเมินคุณภาพภายในตามมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา (7) จัดทำรายงานประจำปีที่เป็นรายงานการประเมินคุณภาพภายใน และ (8) จัดให้มีการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยมีแนวคิดในการบริหารตาม POSDC เป็นตัวขับเคลื่อนการดำเนินงาน 3) ผลการประเมินความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการนำรูปแบบการบริหารจัดการการประกันคุณภาพภายในเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ภาค 17 ไปใช้ในการพัฒนา พบว่า มีความเหมาะสมและความเป็นไปได้อยู่ในระดับมากที่สุด