แนวทางการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

ผู้แต่ง

  • สำราญ บุญเจริญ วิทยาลัยนครราชสีมา

คำสำคัญ:

การบริหารทรัพยากรมนุษย์, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้ใช้การวิจัยเชิงคุณภาพ (qualitative research) โดยได้กำหนดวัตถุประสงค์ของการวิจัยไว้ 2 ประการ ดังต่อไปนี้ 1) เพื่อศึกษาปัญหาการบริหารทรัพยากรมนุษย์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา และ 2) เพื่อเสนอแนวทางในการบริหารทรัพยากรมนุษย์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ใช้แบบสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้างกับผู้เกี่ยวข้องและรู้เรื่องที่วิจัยดี แบบเจาะจง จำนวน 17 คน การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) ผลการวิจัยพบว่า 1) ปัญหาการบริหารทรัพยากรมนุษย์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ 1.1) องค์กรให้อำนาจการตัดสินใจกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำให้ขาดการถ่วงดุลอำนาจกันจึงไม่สามารถป้องกันการคัดเลือกที่ทุจริต 1.2) การเบิกจ่ายเงินโครงการฝึกอบรมอันเป็นเท็จ เกินจริง 1.3) ผู้นำไม่สามารถสร้างแรงจูงใจที่จะกระตุ้นให้พนักงานปฏิบัติงานได้อย่างเต็มความสามารถ 1.4) การแบ่งพรรค แบ่งพวก การปกครองบังคับบัญชาขาดความมีเอกภาพจนทําให้องค์กรขาดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารจัดการ 2) แนวทางการบริหารทรัพยากรมนุษย์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ 2.1) องค์กรต้องการวางแผนอัตรากำลังคน (Manpower Planning) คือ คุณภาพ ความสามารถของพนักงานท้องถิ่น และกำลังคนที่เหมาะสมกับงาน 2.2) การฝึกอบรมหรืองบประมาณการบริหารงานบุคคลต้องกำหนดหลักเกณฑ์ที่เด่นชัด ตรวจสอบได้เพื่อรักษาประโยชน์ของ อปท. และประโยชน์ของประเทศชาติโดยส่วนรวม 2.3) การสร้างแรงจูงใจในการทำงาน เช่น การมอบรางวัลบุคลากรดีเด่นเพื่อกระตุ้นให้ปฏิบัติงานได้อย่างเต็มความสามารถ 2.4) การเปลี่ยนค่านิยมของผู้นำและผู้ตาม ต้องยึดหลักความถูกต้องชอบธรรมทางกฎหมายเป็นสำคัญ มีระบบและกระบวนการบริหารที่คำนึงถึงหลักการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี เพื่อสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานของพนักงานท้องถิ่น

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-12-28