การสร้างอัตลักษณ์อาหารท้องถิ่นและการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนในกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์

ผู้แต่ง

  • สิทธิศักดิ์ เตียงงา มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด
  • กนกวรรณกรณ์ หลวงวังโพธิ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด

คำสำคัญ:

อัตลักษณ์, อาหารท้องถิ่น, ร้อยแก่นสารสินธุ์

บทคัดย่อ

การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการสร้างอัตลักษณ์อาหารท้องถิ่น และสร้างกลไกกิจกรรมทางการท่องเที่ยวด้านอาหารท้องถิ่น โดยให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วม เพื่อช่วยส่งเสริมและยกระดับการท่องเที่ยวชุมชนในกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์ ในการนำเสนอเป็นผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวเชิงอาหารให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายและยั่งยืน
อัตลักษณ์ด้านอาหารท้องถิ่นที่สามารถดึงดูดความสนใจนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเยี่ยมเยียนชุมชนจังหวัดในกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์เพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนในกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์  โดยมีกลุ่มตัวอย่าง คือ หน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการร้านอาหาร ผู้นำชุมชนทั้ง 8 ตำบล ในจังหวัดร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ศึกษาจากการเก็บข้อมูลปฐมภูมิจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยวิธีการสังเกตแบบมีส่วนร่วม การสัมภาษณ์เชิงลึก การสนทนากลุ่ม และการสนทนากลุ่มย่อย ด้วยวิธีการเลือกแบบเจาะจง และการวิจัยเชิงปริมาณศึกษาจากการสัมภาษณ์เชิงลึกเกี่ยวกับอัตลักษณ์อาหารท้องถิ่น และมีการค้นคว้าวิจัยเอกสาร ตำรา บทความ แผ่นพับ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อเก็บข้อมูล ใช้สถิติในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าร้อยละ และค่าเฉลี่ย โดยนำผลการศึกษาทั้งวิจัยเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ เพื่อหาอัตลักษณ์อาหารท้องถิ่นของชุมชนในกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์ที่แท้จริงและตรงกับความต้องการของนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นผู้บริโภคเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนในกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์

         ผลการวิจัยพบว่า อาหารที่จัดเป็นอาหารท้องถิ่นและมีอัตลักษณ์ของชุมชนในกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์ คือ น้ำพริกปลาร้า ส้มตำ ลาบ ก้อย อ่อม ผักพื้นบ้านทั่วไป ผลไม้ตามฤดูกาล นักท่องเที่ยวชุมชนในกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์ ส่วนใหญ่มีการศึกษาระดับปริญญาตรี ร้อยละ 32 มีภูมิลำเนาอยู่ในกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์ ใช้เวลาในการท่องเที่ยวครั้งละ 3 วัน นิยมรับประทานอาหารท้องถิ่นในมื้อเที่ยงและมื้อค่ำ รสชาติอาหารมีรสชาติตามธรรมชาติของเมนูและวัตถุดิบที่ใช้ทำอาหาร รสชาติเข้มข้นแต่เผ็ดปานกลางถึงมาก นักท่องเที่ยวต้องการมีส่วนร่วมในการทำอาหาร และชมการทำอาหารท้องถิ่นของผู้ประกอบการที่พักอาศัย อาหารท้องถิ่นในกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์ ที่นักท่องเที่ยวต้องการ คือ น้ำพริกปลาร้า ส้มตำ และลาบ การศึกษาครั้งนี้ได้นำเสนอขั้นตอนการนำอัตลักษณ์อาหารท้องถิ่นในกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์เข้าสู่กระบวนการยกระดับภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ โดยการอนุรักษ์ การฟื้นฟู การประยุกต์ การสร้างใหม่ เพื่อสร้างกิจกรรมใหม่ๆ ที่จะช่วยในการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ในกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์ โดยนำเสนอตัวอย่างกิจกรรมการทำอาหารแก่ชุมชนในกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์ ตามหลักแนวคิดการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

References

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (2561). Amazing Thailand Go Local: เที่ยวท้องถิ่นไทยชุมชนเติบใหญ่ เมืองไทยเติบโต. สืบค้นเมื่อ 20 มีนาคม 2564, จาก www.thai.touirsmthailand.org.

กฤตวิทย์ กฤตมโนรถ และ ศุภกรณ์ ดิษฐพันธุ์. (2562, มกราคม-มิถุนายน). การท่องเที่ยวเชิงอาหารผ่านอัตลักษณ์อาหารทั้ง 4 ภูมิภาค. วารสารสถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. 20(2).

ทิพวัลย์ รามรง และคณะ. (2562, กรกฎาคม - ธันวาคม). ศักยภาพอาหารท้องถิ่น ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านอาหารท้องถิ่นกรณีศึกษาจังหวัดตรัง เมืองคนช่างกิน", วารสารสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. 47(2), หน้า 59-74.

สิริกานต์ ทองพูน และคณะ. (2562). อัตลักษณ์ชุมชนเพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนบ้านลานคา จังหวัดสุพรรณบุรี. การประชุมหาดใหญ่วิชาการระดับชาติและนานาชาติครั้งที่ 11. มหาวิทยาลัยหาดใหญ่.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-06-29