ออกแบบอาคารศูนย์การเรียนรู้สมุนไพรตามหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาองค์ประกอบในการออกแบบศูนย์การเรียนรู้สมุนไพรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ 2) ศึกษาแนวความคิด ขั้นตอนการออกแบบอาคารศูนย์การเรียนรู้สมุนไพร 3) ศึกษาความคิดเห็นต่อการออกแบบศูนย์การเรียนรู้สมุนไพรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กลุ่มตัวอย่างคือ ตัวแทนชาวบ้าน อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน 10 คน ผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมและผู้ใช้อาคารและบุคคลทั่วไป จำนวน 5 คน เครื่องมือได้แก่ แบบสัมภาษณ์แบบไม่มีโครงสร้าง เจาะจงรายบุคคลซึ่งเป็นชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ และแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิที่มีต่อการออกแบบ และทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าสถิติ ค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการศึกษาพบว่า
- องค์ประกอบของการออกแบบศูนย์การเรียนรู้สมุนไพรตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบด้วย ส่วนสำนักงานบริหาร ส่วนบริการทางวิชาการ ส่วนบริการรักษา และบำบัดฟื้นฟูด้วยสมุนไพร ส่วนวิเคราะห์และสนับสนุนการรักษา ส่วนวิจัยและพัฒนา ส่วนบริการทั่วไป ส่วนกิจกรรมและนันทนาการรวมทั้งที่พักสำหรับผู้ฝึกอบรมหรือนักท่องเที่ยว และส่วนบริการจอดรถ
2. การศึกษาแนวคิดและขั้นตอนการออกแบบทางสถาปัตยกรรม และการออกแบบด้านภูมิสถาปัตยกรรมของการออกแบบศูนย์การเรียนรู้สมุนไพรตามหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ สรุปผลวิจัยได้ว่า แนวคิดได้นำวิถีชีวิต
ของกลุ่มชาติพันธุ์ม้งที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ ได้นำสมุนไพรมาใช้เพื่อการรักษาโรคต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน มาเป็นแนวทางในการออกแบบเพื่อจัดองค์ประกอบและกิจกรรมภายในโครงการ และรูปแบบสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นชุมชนมุ้ง นำมาประยุกต์ใช้กับการออกแบบอาคาร ทางสถาปัตยกรรม วิถีชีวิตของชาติพันธุ์ม้งกับเศรษฐกิจพอเพียง
- ความคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิที่มีต่อการออกแบบศูนย์การเรียนรู้สมุนไพร ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ พบว่า การออกแบบพื้นที่อาคารสามารถใช้ประโยชน์ได้จริงอยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมา คือ พื้นที่ใช้สอยของอาคารครอบคลุมทุกส่วนงานที่กำหนดอยู่ในระดับมาก และระบบอาคารออกแบบได้ถูกต้องตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคารอยู่ในระดับมากตามลำดับ