มาตรการแก้ไขเยียวยาผู้เสียหายจากการกระทำความผิดทางอาญา
คำสำคัญ:
การแก้ไขเยียวยา , ผู้เสียหาย, ในคดีอาญาบทคัดย่อ
บทคัดย่อ (Abstract)
งานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวคิดและความเป็นมาของการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนของผู้เสียหายในคดีอาญาของไทย และมาตรการแก้ไขเยียวยาผู้เสียหายจากการกระทำความผิดทางอาญาตามกฎหมายของไทย การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในคดีอาญา การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นมาพิจารณาใหม่ และมาตรการคุ้มครองแก้ไขเยียวยาผู้เสียหายจากการกระทำผิดทางคดีอาญา ภายในขอบเขตของกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 และมาตรา 44/1 พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย ค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2559 และพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526
ผลการวิจัยพบว่า พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2)พ.ศ.2559 ได้บัญญัติขึ้นเพื่อเป็นมาตรการคุ้มครองแก้ไขเยียวยาผู้เสียหายจากการกระทำผิดทางคดีอาญา ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาความเสียหายอันเกิดจากการกระทำความผิดทางอาญาของไทยนั้น ได้มีการรับรองไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 หมวดที่ 6 ว่าด้วยแนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 68 วรรคสี่ กำหนดให้บุคคลใดที่ได้รับความเสียหายอันเป็นผลมาจากการกระทำความผิดอาญา จึงมีสิทธิได้รับการเยียวยาความเสียหายโดยขอรับค่าตอบแทนตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งเป็นการกระจายค่าตอบแทน
ให้แก่ผู้เสียหายเพื่อทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นจากหรือเนื่องมาจากการกระทำความผิดทางอาญาของผู้อื่น ทั้งนี้ผู้เสียหายต้องมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้น ความผิดที่กระทำต่อผู้เสียหายซึ่งทำให้ผู้เสียหายมีสิทธิขอรับค่าตอบแทนได้ตามมาตรา 17 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 กำหนดให้พนักงานอัยการใช้สิทธิทางแพ่งเรียกให้ผู้กระทำผิดคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แทนผู้เสียหายโดยที่ผู้เสียหายไม่จำเป็นต้องมีคำร้องขอ และมาตรา 44/1 กำหนดให้ผู้เสียหายที่มีความประสงค์ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ผู้เสียหายจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีนั้น เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาประเด็นค่าสินไหมทดแทน โดยเมื่อผู้เสียหายใช้สิทธิเรียกร้องตามมาตรา 44/1 ผู้เสียหายไม่สามารถไปฟ้องคดีแพ่งเพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้อีก ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เสียหายที่เป็นเหยื่ออาชญากรรมได้รับการเยียวยาความเสียหายสะดวก และรวดเร็วมากขึ้น และพระราชบัญญัติรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้มีกระบวนการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนชาวไทยไว้ค่อนข้างมากและได้มีการรับรองหลักการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ ตามพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 ก็ได้วางหลักเกณฑ์เงื่อนไขและวิธีการในการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นหลักการที่สำคัญ ในอันที่จะเป็นการประกันสิทธิและเสรีภาพสำหรับบุคคลที่ต้องโทษในคดีอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุด เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม เมื่อผู้นั้นได้ปรากฏรากฎขึ้นซึ่งหลักฐานใหม่ในการพิจารณาว่าบุคคลนั้นมิได้เป็นผู้ก่อให้เกิดความผิดทางอาญาขึ้นมา ซึ่งสาระสำคัญของพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) ได้ให้ความคุ้มครองผู้เสียหายในคดีอาญาโดยมีหลักเกณฑ์ 3 ประการ ได้แก่ (1) ต้องเป็นผู้ได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิต ร่างกาย หรือจิตใจ (2) ต้องเป็นการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่นโดยที่ตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดนั้น (3) ต้องเป็นความผิดตามรายการที่ระบุไว้ท้ายพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายนี้
Downloads
เผยแพร่แล้ว
Versions
- 2022-02-07 (2)
- 2022-01-23 (1)