หญิงข้ามเพศ (กะเทย) กับการสร้างอัตลักษณ์ต่อการยอมรับในสังคมเมือง
คำสำคัญ:
หญิงข้ามเพศ, อัตลักษณ์, การยอมรับบทคัดย่อ
บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการสร้างอัตลักษณ์ของหญิงข้ามเพศ (กะเทย) ต่อการยอมรับในสังคมเมือง โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลภาคสนาม ด้วยการสังเกต การสัมภาษณ์เชิงลึก จากกลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลัก จำนวน 10 คน ที่เปิดเผยว่าตนเป็นหญิงข้ามเพศ (กะเทย) และนำข้อมูลมาวิเคราะห์/ตีความตามกรอบแนวคิดของการศึกษาโดยใช้แนวคิดอัตลักษณ์ทางเพศ และแนวคิดเพศวิถี เป็นกรอบของการศึกษา ผลการวิจัยพบว่า การสร้างอัตลักษณ์ของหญิงข้ามเพศ (กะเทย) ต่อการยอมรับในสังคมเมือง แบ่งออกเป็น 2 แบบ ดังนี้ 1) การสร้างอัตลักษณ์ระดับปัจเจกบุคคลในการแสดงตัวตนและพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวัน ที่ไม่ได้รับการยอมรับจากครอบครัว ชุมชน และสังคม ส่งผลให้หญิงข้ามเพศ (กะเทย) ต้องแสดงความเป็นตัวตนและสร้างนิยามตัวตนขึ้นมา เช่น การแต่งกาย กิริยาท่าทาง ภาษา ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่ชี้ให้เห็นถึงวิธีคิด ความรู้สึก และการแสดงออกเชิงพฤติกรรม และ 2) การสร้างอัตลักษณ์ของหญิงข้ามเพศ (กะเทย) ที่เกิดจากเครือข่ายทางสังคมเดียวกัน เป็นการรวมกลุ่มเพื่อดำเนินกิจกรรมทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นจัดตั้งกลุ่ม ชมรม หรือสมาคม ในการทำกิจกรรมภายใต้ความสัมพันธ์ในทุกมิติที่มีต่อกัน ไม่ว่าจะด้านวัฒนธรรม ชุมชน สังคม และการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อพูดคุย ปรึกษา แลกเปลี่ยนประสบการณ์ รวมถึงการช่วยเหลือต่าง ๆ จนก่อให้เกิดการรวมกลุ่มขนาดใหญ่ในการสร้างตัวตนต่อการยอมรับในสังคม