ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการท่องเที่ยวแบบวิถีชีวิตใหม่ กรณีศึกษา ตลาดน้ำอัมพวา ตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
คำสำคัญ:
ความสัมพันธ์/การท่องเที่ยวแบบวิถีชีวิตใหม่/ตลาดน้ำอัมพวาบทคัดย่อ
บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1) เพื่อศึกษาระดับความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวต่อการท่องเที่ยวแบบวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) 2) เพื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวต่อการท่องเที่ยวแบบวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล และ 3) เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการท่องเที่ยวแบบวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วย นักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางมาท่องเที่ยวตลาดน้ำอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม จำนวน 385 คน สุ่มตัวอย่างจากสูตรของคอแครน ใช้วิธีเลือกตัวอย่างแบบตามสะดวกหรือแบบบังเอิญ (Convenient or accidental sampling) และใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล นำผลที่ได้มาวิเคราะห์ค่าทางสถิติโดยการแจกแจงความถี่ การหาร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทดสอบสมมติฐานด้วยสถิติการทดสอบแบบ t-test สถิติวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-way ANOVA) และหากพบความแตกต่างจะนำไปเปรียบเทียบเป็นรายคู่โดยใช้วิธีของ LSD และใช้สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (Correlation coefficient) วัดค่าความสัมพันธ์ของตัวแปร โดยทดสอบที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05
ผลการวิจัยพบว่า 1) ระดับความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวต่อการท่องเที่ยวแบบวิถีชีวิตใหม่ในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง 2) ปัจจัยส่วนบุคคลด้านรายได้เฉลี่ยต่อเดือนแตกต่างกัน มีผลต่อการท่องเที่ยวแบบวิถีชีวิตใหม่ ด้านระยะเวลาในการท่องเที่ยวและด้านสถานที่ท่องเที่ยวที่เลือกแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 สำหรับปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ เพศ อายุ ภูมิลำเนา สถานภาพการสมรส ระดับการศึกษาและอาชีพแตกต่างกัน มีผลต่อความคิดเห็นในการท่องเที่ยวแบบวิถีชีวิตใหม่ โดยรวมไม่แตกต่างกัน และ 3) ปัจจัยผลักดันทางการท่องเที่ยว ด้านค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวเป็นเพียงปัจจัยเดียวที่มีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงการท่องเที่ยวแบบวิถีชีวิตใหม่ ในด้านระยะเวลาในการท่องเที่ยวและด้านสถานที่ท่องเที่ยวที่เลือก สำหรับปัจจัยผลักดันทางการท่องเที่ยวด้านสิ่งอำนวยความสะดวกและด้านนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวจากภาครัฐไม่มีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงการท่องเที่ยวแบบวิถีชีวิตใหม่