บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญกับพัฒนาการทางการเมืองไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2540-2564
คำสำคัญ:
การพัฒนาเมือง, บทบาทศาลรัฐธรรมนูญ, ตุลาการภิวัฒน์, สิทธิและเสรีภาพบทคัดย่อ
บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา (1) ที่มาและการออกแบบโครงสร้างของศาลรัฐธรรมนูญไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2540-2564 (2) บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และ (3) บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญที่ส่งผลต่อพัฒนาการของการเมืองไทย ด้วยกระบวนการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการเก็บข้อมูลจากการวิจัยเชิงเอกสาร และการสัมภาษณ์เจาะลึกจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ โดยนำเอาแนวคิดตุลาการภิวัฒน์ แนวคิดหลักนิติรัฐ แนวคิดรัฐธรรมนูญนิยม แนวคิดหลักสิทธิและเสรีภาพ และทฤษฎีหลักการแบ่งแยกอำนาจเป็นกรอบในการวิจัย
ผลการวิจัยพบว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีที่มาจากหลักการสากลที่ว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และมีลำดับศักดิ์สูงกว่าบทบัญญัติกฎหมายอื่นทั้งหมดของรัฐ โดยศาลรัฐธรรมนูญไทยมีโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ใกล้เคียงกับศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมณี ซึ่งเป็นสถาบันที่ทำหน้าที่ยุติข้อโต้แย้งทางรัฐธรรมนูญ มีอำนาจวินิจฉัยคดีรัฐธรรมนูญเป็นการเฉพาะ เพื่อทำหน้าที่คุ้มครองหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงการสร้างบรรทัดฐานการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี องค์กรอื่นของรัฐ และถือเป็นที่สุดเด็ดขาด หากคำวินิจฉัยนั้นเป็น คำวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้อง เหมาะสม หรือยุติธรรม โครงสร้างของสังคมการเมือง ระบบกฎหมายมหาชน และประเทศชาติก็จะเสื่อมถอยลง แต่หากศาลรัฐธรรมนูญมีการตีความที่ถูกต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอันแท้จริง ความสมเหตุสมผล และตระหนักถึงความรู้สึกนึกคิดของคนโดยทั่วไปแล้ว การตีความอันนำไปสู่ผลที่แปลกประหลาดก็จะไม่เกิดขึ้น รวมทั้งจะไม่ประสบกับภาวะความไม่ศรัทธาต่อองค์กรตุลาการ ดังนั้น คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางการเมืองก็ดีหรือก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคู่อำนาจทางการเมืองก็ดี ย่อมส่งผลและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทางการเมืองไทย โดยศาลรัฐธรรมนูญจะต้องปฏิบัติหน้าที่สำคัญในการคุ้มครองความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ในฐานะเป็นองค์กรตุลาการซึ่งได้รับการยอมรับให้ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนให้เป็นจริงในทางปฏิบัติภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย