แนวทางการจัดการความไม่สงบเรียบร้อยในการชุมนุมของประชาชน

ผู้แต่ง

  • ศุภณัฐ เอ่งย่อง มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา
  • สัณฐาน ชยนนท์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา
  • วิจิตรา ศรีสอน มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา

คำสำคัญ:

แนวทางการจัดการ, การชุมนุม, ความไม่สงบ.

บทคัดย่อ

                  บทความวิจัยเรื่อง แนวทางการจัดการความไม่สงบเรียบร้อยในการชุมนุมของประชาชน มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. ศึกษาบริบทและปัญหาความไม่สงบเรียบร้อย อันเกิดจากการชุมนุมของประชาชน 2. เพื่อศึกษาการใช้พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 กับการแก้ปัญหาความไม่สงบเรียบร้อย กรณีการชุมนุมของประชาชน และ 3. นำเสนอแนวทางการจัดการความไม่สงบเรียบร้อยในการชุมนุมของประชาชน เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้วิธีการศึกษาข้อมูลจากเอกสาร สัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน 21 คน ได้แก่ นักวิชาการ องค์กรภาคประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมือง และการสนทนากลุ่ม จำนวน 12 คน นักวิชาการ นักข่าว ตำรวจฝูงชน ประชาชนทั่วไป และนิสิต/นักศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้วิธีจำแนกชนิดข้อมูล สรุปอุปนัย การวิเคราะห์เชิงเนื้อหา และตรวจสอบข้อมูลโดยวิธีสามเส้า จากการวิจัยพบว่า 1. เสรีภาพในการชุมนุมเป็นปัจจัยสำคัญของการเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของสังคมประชาธิปไตย การชุมนุมสาธารณะโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตัดสินใจในระบอบประชาธิปไตย การชุมนุมเป็นกลไกในการเปิดโอกาสให้มีการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นและการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเปิดเผย แสดงออกซึ่งปัญหาและข้อเรียกร้องของประชาชนหรือกลุ่มผลประโยชน์ในสังคม ทั้งยังช่วยให้รัฐมองเห็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมได้อย่างชัดเจน 2. พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มีสาระสำคัญ ประกอบด้วย (1) เป็นการชุมนุมในที่สาธารณะ และ (2) บุคคลอื่นสามารถเข้าร่วมการชุมนุมนั้นได้ การชุมนุมที่ไม่ครบองค์ประกอบดังกล่าวจึงไม่เป็นการชุมนุมที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้คือ การชุมนุมในพื้นที่ส่วนบุคคล ในบ้าน โรงแรมเอกชน หรือหอประชุมส่วนตัว รวมถึงการชุมนุมที่บุคคลอื่นไม่สามารถเข้าร่วมได้ เช่น การประชุมหารือของสมาชิกองค์กรภายในหมู่บ้าน การชุมนุมสาธารณะแบบที่ไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 การชุมนุมบางประเภทจึงได้รับยกเว้นไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายฉบับนี้ ได้แก่ 1. การชุมนุมเนื่องในงานพระราชพิธีและงานรัฐพิธี 2. พิธีกรรมทางศาสนาหรือกิจกรรมตามประเพณีหรือตามวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น 3. การชุมนุมเพื่อจัดแสดงมหรสพ กีฬา ส่งเสริมการท่องเที่ยว 4. การชุมนุมภายในสถานศึกษา 5. การประชุมตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หรือการประชุมสัมมนาทางวิชาการของสถานศึกษาหรือหน่วยงานที่มีวัตถุประสงค์ทางวิชาการ และ 6. การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก การจัดการชุมนุมในบางพื้นที่มีลักษณะต้องห้าม พื้นที่ต้องห้าม และสถานที่อื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และ 3. แนวทางการจัดการความไม่สงบเรียบร้อยในการชุมนุมของประชาชน มีแนวทางดังนี้ 1. การรับรู้สถานการณ์หรือเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความไม่สงบเรียบร้อย 2. การประเมินและคาดการณ์ระดับการชุมนุมของประชาชน 3. วิธีการจัดการแก้ไขปัญหาความไม่สงบเรียบร้อย 4. คณะทำงานการแก้ปัญหาความไม่สงบเรียบร้อย 5. ความเชื่อมั่นในคณะทำงานการแก้ปัญหาความไม่สงบเรียบร้อย 6. การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของคณะทำงาน 7. จุดมุ่งหมายในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบเรียบร้อย 8. ยึดหลักนิติศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบเรียบร้อย 9. การใช้สื่อมวลชนในการแก้ปัญหาความไม่สงบเรียบร้อย และ 10. การวัดระดับผลการแก้ไขปัญหาความไม่สงบเรียบร้อย

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-09-13

ฉบับ

บท

บทความวิจัย (Research article)