การศึกษาการนำนโยบายการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมสำหรับเด็กพิการไปปฏิบัติ
คำสำคัญ:
การนำนโยบายไปปฏิบัติ, การจัดการศึกษาแบบเรียนรวม, นักเรียนพิการบทคัดย่อ
บทความวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. เพื่อศึกษากระบวนการนำนโยบายการจัดการศึกษาเรียนรวมของกลุ่มเด็กพิการไปปฏิบัติของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2. เพื่อศึกษาสภาพปัญหาในการนำนโยบายการจัดการศึกษาเรียนรวมของกลุ่มเด็กพิการไปปฏิบัติของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 3. เพื่อศึกษาเงื่อนไขความสำเร็จในการนำนโยบายการจัดการศึกษาเรียนรวมของกลุ่มเด็กพิการไปปฏิบัติ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ 4. เพื่อเสนอแนะสำหรับการปรับปรุงนโยบายการจัดการศึกษาเรียนรวมของกลุ่มเด็กพิการที่เหมาะสมและสอดคล้องกับเป้าหมายการจัดการเรียนที่สร้างความเสมอภาคและเป็นธรรม ใช้วิธีการศึกษาเชิงคุณภาพ จากการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนการแปลงนโยบาย จากส่วนกลางไปสู่พื้นที่เขตการศึกษาและสถานศึกษา รวมจำนวน 28 คน ใช้กรณีสถานศึกษาที่จัดเรียนรวมในจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นหน่วยวิเคราะห์ ทำการวิเคราะห์ข้อมูลแบบเนื้อหา และตรวจสอบข้อมูลแบบสามเส้า(Triangulation)
ผลการศึกษาพบว่า 1) กระบวนการนำนโยบายการจัดการศึกษาเรียนรวมของ กลุ่มเด็กพิการไปปฏิบัติของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นแบบบนลงล่าง โดยแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบตามลักษณะการจัดองค์การความสัมพันธ์ดังนี้ (1.1) การแปลงนโยบายจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานไปสู่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และ (1.2) การแปลงแผนงานจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาไปสู่กิจกรรม/โครงการของสถานศึกษา 2) สภาพปัญหาในการนำนโยบาย การจัดการศึกษาเรียนรวมของกลุ่มเด็กพิการไปปฏิบัติของสำนักงานคณะกรรมการ-การศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้แก่ (2.1) ปัญหางบประมาณ (2.2) ปัญหาด้านการจัดทำฐานข้อมูลเด็กพิการ (2.3) ปัญหาด้านบุคลากร และ (2.4) ปัญหาอุปกรณ์สื่อและอารยสถาปัตย์ 3) เงื่อนไขความสำเร็จในการนำนโยบายการจัดการศึกษาเรียนรวมของกลุ่มเด็กพิการไปปฏิบัติของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้แก่ ประกอบด้วย (3.1) ทัศนคติของบุคคลที่เกี่ยวข้อง (3.2) การสร้างแรงจูงใจ และ (3.3) การสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ และ 4) ข้อเสนอแนะสำหรับการปรับปรุงนโยบายการจัดการศึกษาเรียนรวมของกลุ่มเด็กพิการที่เหมาะสมและสอดคล้องกับเป้าหมายการจัดการเรียนที่สร้างความเสมอภาคและเป็นธรรม ได้แก่ (4.1) ข้อเสนอแนะด้านการบริหารจัดการเพื่อเป็นฐานของการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม (4.2) ด้านการเสริมสร้างสมรรถนะที่เหมาะสมให้กับสถานศึกษาแบบเรียนรวม และ (4.3) ด้านการพัฒนาองค์การและการจัดการเรียนรู้แบบเรียนรวมเชิงสร้างสรรค์