ความเป็นโมฆียะของสัญญาทางปกครอง
คำสำคัญ:
สัญญาทางปกครอง, โมฆียะบทคัดย่อ
บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาขอบเขตในการนำหลักโมฆียะกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาปรับใช้กับสัญญาทางปกครองในระบบกฎหมายฝรั่งเศสและระบบกฎหมายเยอรมัน และศึกษาผลการนำหลักโมฆียะกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาปรับใช้กับสัญญาทางปกครอง โดยงานวิจัยเชิงคุณภาพนี้มุ่งค้นคว้าความเป็นมาและข้อความคิดพื้นฐานของสัญญาทางปกครอง หลักความไม่ชอบด้วยกฎหมายของสัญญาทางปกครอง ตลอดจนประวัติศาสตร์ ความเป็นมา และหลักการความเป็นโมฆียะกรรมของสัญญา ประกอบแนวคำพิพากษาศาลปกครอง เพื่อเสนอแนะแนวทางในการนำหลักโมฆียะกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาปรับใช้กับสัญญาทางปกครองในระบบกฎหมายไทยต่อไป
ผลการวิจัยพบว่า สัญญาทางปกครองในระบบกฎหมายไทยมีหลักการพื้นฐานที่แตกต่างจากสัญญาในทางแพ่ง คือสัญญาทางปกครองเป็นเครื่องมือหนึ่งของฝ่ายปกครองในการจัดทำบริการสาธารณะให้บรรลุผล อย่างไรก็ดี ศาลปกครองซึ่งมีเขตอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีสัญญาทางปกครองได้นำเหตุแห่งโมฆียะกรรม และผลของโมฆียะกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาปรับใช้กับสัญญาทางปกครอง อันทำให้คู่สัญญาไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือฝ่ายเอกชนสามารถกล่าวอ้างความเป็นโมฆียะของสัญญาทางปกครองและบอกล้างได้ซึ่งส่งผลให้การจัดทำบริการสาธารณะของสัญญาทางปกครองไม่อาจบรรลุผลได้ตามวัตถุประสงค์ การวิจัยจึงมีข้อเสนอแนะในการกำหนดขอบเขตในการนำหลักโมฆียะกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาปรับใช้กับสัญญาทางปกครอง และหากเกิดเหตุโมฆียะกรรมในสัญญาทางปกครอง ควรกำหนดผลที่แตกต่างจากสัญญาในทางแพ่ง