แบบจำลองความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างของปัจจัยที่มีผลต่อความพึงพอใจของลูกค้าธุรกิจบริการโลจิสติกส์ของไทย
คำสำคัญ:
ความพึงพอใจ, ลูกค้าธุรกิจบริการ, โลจิสติกส์บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและตรวจสอบความสอดคล้องของแบบจำลองความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างของปัจจัยที่มีผลต่อความพึงพอใจของลูกค้าธุรกิจบริการโลจิสติกส์ของไทย ที่พัฒนาขึ้นกับข้อมูลเชิงประจักษ์ และเพื่อวิเคราะห์อิทธิพลของปัจจัยที่มีผลต่อความพึงพอใจของลูกค้าธุรกิจบริการโลจิสติกส์ของไทย เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ โดยใช้แบบสอบถามในการเก็บข้อมูลจากผู้ประกอบการในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจเลือกผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ได้แก่ ผู้จัดการฝ่ายขาย ผู้จัดการฝ่ายคลังสินค้า และเจ้าของธุรกิจ จำนวน 220 ตัวอย่าง โดยอาศัยการสุ่มตัวอย่างตัวอย่างแบบสะดวก ได้ค่าเฉลี่ยของดัชนีความสอดคล้อง (IOC) เท่ากับ 0.755 และผลการทดสอบค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถาม (Reliability) เท่ากับ 0.852 ผลการศึกษาพบว่า (1) โมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยพิจารณาจากค่าสถิติ c2 เท่ากับ 85.606, df เท่ากับ 29, ค่า c2/df เท่ากับ 2.952, ค่า p-value เท่ากับ 0.082, ค่า RMSEA เท่ากับ 0.065 ค่า GFI เท่ากับ 0.973 และ ค่า AGFI เท่ากับ 0.944 แสดงให้เห็นว่า ค่าสถิติความสอดคล้องของแบบจำลองความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างของปัจจัยที่มีผลต่อความพึงพอใจของลูกค้าธุรกิจบริการโลจิสติกส์ของไทย มีความสอดคล้องกลมกลืนกับข้อมูลเชิงประจักษ์ ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐาน และ (2) ตัวแปรแฝงที่มีอิทธิพลทางตรงเชิงบวกต่อความพึงพอใจของลูกค้าธุรกิจบริการโลจิสติกส์ของไทยมากที่สุดคือ ราคา รองลงมาคือ ลักษณะองค์กรของผู้ให้บริการ ส่วนตัวแปรที่มีอิทธิพลรวมต่อตัวแปรความพึงพอใจของลูกค้าธุรกิจบริการ โลจิสติกส์ของไทยน้อยที่สุดคือ การบริการลูกค้า โดยมีค่าสัมประสิทธิ์อิทธิพลเท่ากับ 0.259, 0.254 และ 0.189 ตามลำดับ ในขณะที่ตัวแปรแฝงราคา และการบริการลูกค้า ส่งอิทธิพลทางอ้อมผ่านตอบสนองอย่างรวดเร็ว โดยมีค่าสัมประสิทธิ์อิทธิพลเท่ากับ 0.786 และ 0.714 ตามลำดับ