การวิเคราะห์หลักธรรมที่ปรากฏในมหาชาติเวสสันดรชาดก ฉบับสร้อยสังกร ตามกรอบแนวคิดธรรมนูญชีวิตของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
คำสำคัญ:
หลักธรรม, มหาชาติเวสสันดรชาดก ฉบับสร้อยสังกร, หลักธรรมนูญชีวิตบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงเอกสารมีวัตถุประสงค์ในการวิจัยเพื่อ 1) ศึกษาประวัติพัฒนาการของมหาชาติเวสสันดรชาดก ฉบับสร้อยสังกร และ 2) วิเคราะห์หลักธรรมที่ปรากฏในมหาชาติเวสสันดรชาดก ฉบับสร้อยสังกร ตามกรอบแนวคิดธรรมนูญชีวิตของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ข้อมูลที่ใช้เป็นข้อมูลจากมหาชาติภาคพายัพ ฉบับสร้อยสังกร สำนวนเอกที่พระธรรมราชานุวัตร (ฟู อตฺตสิวเถระ) เป็นผู้ปริวรรต พ.ศ. 2498 และจากหนังสือธรรมนูญชีวิต โดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พ.ศ. 2541
ผลการวิจัยพบว่า 1) พัฒนาการของมหาชาติเวสสันดรชาดก ฉบับสร้อยสังกร ผู้พัฒนาใช้เวลาศึกษาและปริวรรตสำนวนเก่าให้เป็นสำนวนใหม่ โดยพัฒนาจากตัวอักษรล้านนาเป็นตัวอักษรไทย มีพัฒนาการด้านเสียงสัมผัสให้มีความไพเราะขึ้น ด้านคำศัพท์ให้เป็นภาษาไทยมาตรฐาน ด้านความหมายให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น 2) หลักธรรมที่ปรากฏในมหาชาติเวสสันดรชาดก ฉบับสร้อยสังกร ตามกรอบแนวคิดธรรมนูญชีวิตของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) แสดงให้เห็นตัวละครที่มีบทบาทและหลักธรรมประจำตน พบว่า ตัวละครที่มีบทบาทมากที่สุด คือ ผู้ให้ ภรรยา และพระราชา ตามลำดับ ส่วนหลักธรรมของตัวละครที่ปรากฏมากที่สุดคือ การให้ทาน ความเมตตา และการทำหน้าที่ ตามลำดับ ส่วนเนื้อหาจะเกี่ยวข้องกับการให้ทาน สอดคล้องกับบทบาทและหลักธรรมของตัวละครที่ปรากฏตามธรรมนูญชีวิตมากที่สุด คือ คนกับสังคม คนกับชีวิต และคนกับคน ตามลำดับ แสดงให้เห็นถึงหลักธรรม ที่ปรากฏมหาเวสสันดรชาดก ฉบับสร้อยสังกร ตามกรอบแนวคิดหลักธรรมนูญชีวิต โดยเนื้อหาจะเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของคนในสังคมและเกิดผลตามวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้