เจ้าโคตรกับบทบาทคนกลางในงานยุติธรรมชุมชนร่วมสมัย

ผู้แต่ง

  • ภควรรณพร พิศุทธิสุวรรณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คำสำคัญ:

เจ้าโคตร, คนกลาง, ยุติธรรมชุมชน

บทคัดย่อ

          สังคมไทยในอดีตมีมุมมองว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องไม่พึงประสงค์เพราะเป็นอันตรายคุกคามต่อความสงบสุข จึงถือเป็นหน้าที่คนในชุมชนที่จะร่วมมือกันยุติเหตุการณ์ไม่ให้บานปลายจนเกิดเป็นความเดือดร้อนวุ่นวายขึ้น ตามวัฒนธรรมอีสานเจ้าโคตรเป็นบุคคลที่คนในตระกูลยกย่องว่าเป็นผู้นำในหมู่เครือญาติ และคำเดียวกันนี้ยังใช้เรียกผู้นำชุมชนหรือปราชญ์ชาวบ้านซึ่งคนทั้งชุมชนยกย่องเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของชุมชน ดังนั้นเจ้าโคตรจึงได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้านอีสานให้ทำหน้าที่คนกลางไกล่เกลี่ยดับทุกข์ร้อนให้เมื่อเกิดข้อพิพาทขัดแย้งและปัญหาอาชญากรรมไม่ร้ายแรงขึ้นภายในชุมชนเพื่อธำรงไว้ซึ่งความสงบสุขของชุมชนอีสานตั้งแต่สมัยโบราณ การทำหน้าที่คนกลางของเจ้าโคตรที่พบเห็นแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ 1) บทบาทในฐานะผู้ไกล่เกลี่ยของตระกูล และ 2) บทบาทในฐานะผู้ไกล่เกลี่ยจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในชุมชน จึงถือได้ว่าเจ้าโคตรคือคนกลางในงานยุติธรรมชุมชนตามวัฒนธรรมอีสานอย่างแท้จริง โดยการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยไม่ได้ทำให้หน้าที่คนกลางของเจ้าโคตรในงานยุติธรรมชุมชนสูญหายไปอย่างสิ้นเชิง ทว่าได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของเจ้าโคตรยุคใหม่เพื่อปรับตัวให้เข้ากับงานยุติธรรมชุมชนในปัจจุบันที่ชี้นำการดำเนินงานด้วยนโยบายของภาครัฐ โดยการเปลี่ยนแปลงในบทบาทคนกลางของเจ้าโคตรในงานยุติธรรมชุมชนร่วมสมัยแบ่งออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการทำหน้าที่คนกลาง ด้านกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ด้านการจัดทำบันทึกข้อตกลงในลักษณะหลักฐานเอกสารจากการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และด้านการติดตามผลหลังการสิ้นสุดการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-09-10

ฉบับ

บท

บทความวิชาการ (Academic Articles)