ปัญหาการดำเนินคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศตามธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วย ศาลอาญาระหว่างประเทศ ศึกษากรณี ราชอาณาจักรไทยและราชอาณาจักรกัมพูชา

-

ผู้แต่ง

  • Tantakan Pinkaew -

คำสำคัญ:

ธรรมนูญกรุงโรม, ศาลอาญาระหว่างประเทศ, กฎหมายอาญาระหว่างประเทศ

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาความร่วมมือระหว่างประเทศของประเทศกัมพูชา ที่สามารถนำมาสู่การจัดตั้ง “องค์คณะของศาลพิเศษกัมพูชา” (Extraordinary Chambers in the Courts of Cambodia : ECCC)” ขึ้นภายในประเทศกัมพูชาได้เป็นผลสำเร็จ รวมถึงศึกษาปัญหา อุปสรรคของประเทศไทยต่อการเสนอคดีอาชญากรรมต่อมนุษยชาติสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศ นับตั้งแต่ประเทศไทยได้มีการลงนามในธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งธรรมนูญมีวัตถุประสงค์ที่จะนำตัวผู้กระทำความผิด ตามกฎหมายอาญาระหว่างประเทศ อันได้แก่ 1) อาชญากรรมการล้างเผ่าพันธุ์  2) อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ  3) อาชญากรรมสงคราม  4) อาชญากรรมรุกราน มาลงโทษนั้น ประเทศไทยในสมัยรัฐบาลคุณทักษิณ ชินวัตร ได้มีนโยบายปราบปรามยาเสพติด ซึ่งผลของนโยบายนั้นก่อให้เกิดการกระทำความผิดที่เข้าข่ายความผิดอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ  แต่ก็ไม่สามารถนำคดีขึ้นสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศได้เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีการให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรม

ประเทศกัมพูชา หลังจาก “เขมรแดง”เถลิงอำนาจแล้วได้มีการมุ่งสร้าง “สังคมใหม่” ภายใต้รากฐานทางอุดมการณ์ความคิด ที่เรียกว่า “อุดมการณ์ปฏิวัติแบบเบ็ดเสร็จ” โดยขับเคลื่อนนโยบายด้วยการกวาดต้อนประชาชนทั้งหมดจากกรุงพนมเปญและเมืองสำคัญอื่นๆมาบังคับใช้แรงงานเพื่อทำการเกษตร นอกจากนั้นยังมีนโยบายกวาดล้างผู้ที่เป็นปฏิปักษ์ทางความคิด ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 1.7 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นการก่ออาชญกรรมล้างเผ่าพันธุ์ แต่ก็ไม่สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ จากการศึกษาพบว่าเหตุผลที่ไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้เนื่องจากช่วงเวลาที่เกิดการกระทำความผิดในกัมพูชานั้น เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนจะมีการจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ ภายหลังจากกลุ่มเขมรแดงสิ้นสุดอำนาจ รัฐบาลกัมพูชาพยายามคืนความยุติธรรมให้แก่ประชาชนและกลุ่มชาติพันธุ์จึงนำมาสู่การทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับองค์การสหประชาชาติจัดตั้ง “องค์คณะของศาลพิเศษกัมพูชา” (Extraordinary Chambers in the Courts of Cambodia : ECCC) เพื่อนำตัวผู้นำของกลุ่มเขมรแดงที่ได้กระทำการก่ออาชญากรรมทำลายล้างเผ่าพันธุ์มาเข้าสู่การพิจารณาคดีสำเร็จ โดยความสำเร็จนี้รัฐบาลกัมพูชาได้รับการสนับสนุน ช่วยเหลือจากองค์กรสหประชาชาติรวมทั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ

สำหรับประเทศไทยผลของการไม่ได้ให้สัตยาบันในธรรมนูญนั้นทำให้ไม่สามารถนำคดีขึ้นสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศได้ ถ้าต้องการให้มีการชำระมูลคดีที่เกิดขึ้นจากช่วงนโยบายปราบปรามยาเสพติด ทำได้โดยการไปแสดงเจตนาการยอมรับอำนาจโดยเฉพาะกิจ (ad hoc acceptance) ตามบทบัญญัติ มาตรา 12 ข้อ 3 ศาลอาญาระหว่างประเทศจึงจะมีอำนาจเหนือความผิดของดินแดนที่กระทำขึ้นในรัฐนั้น แต่ศาลอาญาระหว่างประเทศจะเข้ามาชำระคดีในประเทศไทยหรือไม่นั้น ศาลอาญาระหว่างประเทศจะเป็นผู้พิจารณาภายหลังว่าจะรับคำร้องเกี่ยวกับการกระทำความผิดกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ โดยต้องพิจารณารวมกับเรื่องอื่นๆประกอบด้วย อย่างไรก็ตามหากในอนาคตประเทศไทยจะมีการให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรม จึงจำเป็นต้องมีการกำหนดฐานความผิดร้ายแรงระหว่างประเทศ 4 ฐาน ตามที่บัญญัติในธรรมนูญกรุงโรม โดยวิธีการนี้อาจต้องดำเนินการออกพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.....โดยการเพิ่มเติมความผิดทั้ง 4 ฐานนี้ลงไปในประมวลกฎหมายอาญาให้สอดคล้องกับธรรมนูญกรุงโรม และถ้าหากประเทศไทยไม่มีการให้สัตยาบันในธรรมนูญกรุงโรม การดำเนินการให้มีกฎหมายภายในดังกล่าว ทำให้เมื่อเกิดความผิดตาม 4 ฐานความผิดของอาญาระหว่างประเทศ ประเทศไทยจะสามารถดำเนินคดีได้ภายในประเทศ โดยไม่ต้องส่งคดีไปให้ศาลอาญาระหว่างประเทศได้

 

 

 

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-11-06

ฉบับ

บท

บทความวิชาการ (Academic Articles)