Introduction

Main Article Content

Jirayudh Sinthuphan

Abstract

ในยุคนี้ คำว่า อำนาจอ่อน หรือ อำนาจละมุน ที่แปลเป็นภาษาไทยมาจากความคิดเรื่องว่า Soft Power – ซอฟต์พาวเวอร์ ของโยเซฟ ไนย์ นั้นกำลังถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงกันในแวดวงวิชาการนานาสาขาวิชาและเลยออกไปในหมู่ผู้ผลิตอุตสาหกรรมวัฒนธรรมไทยกันอย่างกว้างขวาง  ดูราวกับว่าอำนาจหรือความสามารถในการดึงดูดและสร้างความมีส่วนร่วมโดยปราศจากการบังคับนี้กำลังเป็นสิ่งที่สังคมไทยกำลังฝันใฝ่ปรารถนายิ่งนัก  บทความในวารสารเอเชียปริทัศน์ ฉบับที่ 2 ประจำปีพุทธศักราช 2565 ฉบับนี้เกี่ยวข้องกับความคิดเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม


บทความของ กชภพ กรเพชรรัตน์ วิเคราะห์ให้เราเห็นถึงอำนาจของทรัพยากรทางวัฒนธรรมอย่างพิธีกรรมและการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการถ่ายทอด โน้มน้าวและสร้างจิตสำนึกทางการเมืองและสังคมให้แก่ผู้คนในสังกัดของรัฐไทย ทั้งที่เป็นรัฐจารีตและรัฐสมัยใหม่  บทความชิ้นนี้มองพิธีระดับชาติของรัฐไทยและพิธีกรรมระดับท้องถิ่นของอุบลราชธานี ผ่านแว่นของทฤษฎีรัฐนาฏกรรมของคลิฟเฟิร์ด เกียร์ทซ์ที่มองว่าพิธีกรรมหาใช่เป็นเพียงพิธีศักดิ์สิทธิ์ แต่ยังเป็นละครฉากใหญ่ที่ทำให้อำนาจที่เป็นนามธรรมให้กลายรูปธรรมขึ้นมา  ทำให้ประชาชนที่เป็นผู้ชมสัมผัสได้ถึงบารมีของผู้นำและยอมรับโครงสร้างทางอำนาจได้อย่างปราศจากคำถาม และถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองและการเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมืองจากรัฐจารีตแบบเดิมมาเป็นรัฐสมัยใหม่มาระยะหนึ่งแล้ว พิธีกรรมที่ใช้คติความเชื่อและโครงสร้างทางอำนาจแบบอินเดียก็ยังกลับถูกนำกลับมาใช้เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์อันสูงส่งให้แก่สถาบันทางการเมืองทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นอยู่เสมอ


ในทำนองเดียวกัน บทความของ ขนบพร วงศ์กาฬสินธุ์ ก็วิเคราะห์เราเห็นถึงค่านิยมและอุดมคติของชาติที่ถูกถ่ายทอดและปลูกฝังผ่านหนังสือนิยายภาพหรือหนังสือการ์ตูนสำหรับเยาวชน บทความชิ้นนี้ให้ความสนใจกับนิยายภาพของอินเดียชุด เส้นทางสู่รากฐานของท่าน (The Route to Your Roots) ที่จัดพิมพ์มานับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1969 จนถึงปัจจุบัน  สาระสำคัญของหนังสือนิยายภาพชุดนี้คือการปลูกฟังอุดมคติของความเป็นพลเมืองอินเดียหลังได้รับเอกราช พลเมืองผู้ที่รักและหวงแหนชาติอินเดียทั้งในมิติความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ กับเทพเจ้าและกับธรรมชาติ ผ่านเรื่องเล่าแบบมหากาพย์และปรัมปรา และประวัติบุคคลสำคัญ


ถัดมา บทความของ ชาดา เตรียมวิทยา ก็ยังสนใจกับประเด็นทรัพยากรทางวัฒนธรรม โดยพยายามที่จะแสดงให้เห็นว่าเราจะสามารถใช้ทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในการฟื้นฟูชุมชนตลาดพลู อันเป็นชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งได้อย่างไร  บทความชิ้นนี้มองว่า การแปลวัฒนธรรม ประเพณีและความเชื่อให้กลายเป็นกิจกรรมที่ผู้คนสามารถมีส่วนร่วมได้ เช่น การท่องเที่ยวแบบเดินเท้า (Walking Street) จะสามารถทำให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์ในมิติทางศาสนาและความเชื่อ อันถือเป็นอำนาจละมุนที่จะดึงให้นักท่องเที่ยวการเข้าถึงชุมชนได้อย่างยั่งยืน


สุดท้าย บทความของ นารีรัตน์ ปริสุทธิวุฒิพร, วิริยา สีบุญเรือง, อภิราดี จันทร์แสง และ Scott Laird Rolston พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับจีน รวมทั้งเหตุและปัจจัยที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศเสื่อมลงนับตั้งแต่การเกิดขึ้นของโครงการ One Belt One Road ของจีน  โครงการดังกล่าวอาจจะถือได้ว่าเป็นกลไกในการขยายอิทธิพลของจีนในโลกผ่านอำนาจละมุนของการพัฒนาและความร่วมมือทางสังคมและวัฒนธรรม  ซึ่งบทความชิ้นนี้ได้ตั้งข้อสังเกตนี่น่าสนใจว่า กลไกดังกล่าวอาจจะสร้างปัญหาได้มากกว่าประโยชน์หากไม่สามารถดึงดูดให้คู่สัมพันธ์ก้าวข้ามความคิดแบบชาตินิยมและผลประโยชน์แห่งชาติได้


 

Article Details

How to Cite
Sinthuphan, J. (2022). Introduction. ASIA PARIDARSANA, 43(2). Retrieved from https://so01.tci-thaijo.org/index.php/asianreview/article/view/264251
Section
Introduction
Share |