สุขวรรคในคัมภีร์ธรรมบท

ผู้แต่ง

  • ณัฎฐาพรรณ กรรภิรมย์พชิรา สาขาวิชาพระไตรปิฎกศึกษา คณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
  • พระมหาอดิเดช สติวโร สาขาวิชาพระไตรปิฎกศึกษา คณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

คำสำคัญ:

พระไตรปิฎก, สุขวรรค, ความสุข

บทคัดย่อ

บทความวิจัยเรื่อง สุขวรรคในคัมภีร์ธรรมบทนี้ เป็นการวิจัยด้านข้อมูลเอกสารเชิงคุณภาพ  มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาโครงสร้างและเนื้อหาสาระของสุขวรรคในคัมภีร์ธรรมบท  2) เพื่อศึกษาความสุขที่ปรากฏในพระไตรปิฎก  3) เพื่อวิเคราะห์การนำสุขวรรคไปใช้ในการดำเนินชีวิตเพื่อให้เกิดความสุข  การศึกษาวิจัยเรื่อง สุขวรรคในคัมภีร์ธรรมบท เป็นการศึกษาวิจัยด้านข้อมูลเอกสารเชิงวิเคราะห์ โดยค้นคว้าจากคัมภีร์พระไตรปิฎก, อรรถกถา, หนังสือ และเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความสุขในสุขวรรค  

ผลการวิจัย พบว่า 1) โครงสร้างและเนื้อหาสาระของสุขวรรคในคัมภีร์ธรรมบทมี 8 เรื่องในพระคาถามีสาระสำคัญหลัก ดังนี้ (1) เรื่องญาติกลหวูปสมนวัตถุ เป็นเรื่องการระงับความทะเลาะของหมู่พระญาติ พระคาถามีสาระสำคัญหลัก คือ เราเป็นผู้ไม่มีเวรอยู่เป็นสุขจริงหนอ, เราเป็นผู้ไม่เดือดร้อน อยู่เป็นสุขจริงหนอ และเราเป็นผู้ไม่ขวนขวาย อยู่เป็นสุขจริงหนอ, (2) เรื่องมารวัตถุ เป็นเรื่องมาร พระคาถามีสาระสำคัญหลัก คือ เราไม่มีกิเลสเครื่องกังวล อยู่เป็นสุขจริงหนอ, (3) เรื่องโกสลรัญโญปราชยวัตถุ เป็นเรื่องความพ่ายแพ้ของพระเจ้าโกศล พระคาถามีสาระสำคัญหลัก คือ ผู้ละทิ้งความชนะและความพ่ายแพ้ได้แล้ว มีใจสงบ ย่อมนอนเป็นสุข, (4) เรื่องอัญญตรกุลทาริกาวัตถุ เป็นเรื่องสาวน้อยในตระกูลหนึ่ง พระคาถามีสาระสำคัญหลัก คือ สุข(อื่น) ยิ่งกว่าความสงบไม่มี, (5) เรื่องอัญญตรปุปาสกวัตถุ เป็นเรื่องอุบาสกคนใดคนหนึ่ง พระคาถามีสาระสำคัญหลัก คือ นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง, (6) เรื่องปเสนทิโกสลวัตถุ เป็นเรื่องพระเจ้าปเสนทิโกศล พระคาถามีสาระสำคัญหลัก คือ นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง, (7) เรื่องติสสเถรวัตถุ เป็นเรื่องพระติสสเถระ พระคาถามีสาระสำคัญหลัก คือ บุคคลดื่มปวิเวกรส ลิ้มรสแห่งความสงบและได้ลิ้มรสแห่งปีติในธรรมแล้ว เป็นผู้ไม่มีความกระวนกระวาย ไม่มีบาป, (8) เรื่องสักกวัตถุ เป็นเรื่องท้าวสักกะ พระคาถามีเนื้อหาสาระสำคัญหลัก คือ การอยู่ร่วมกับพระอริยะ ก่อให้เกิดสุขทุกเมื่อ, การอยู่ร่วมกับนักปราชญ์มีแต่ความสุข และบุคคลควรคบผู้เป็นปราชญ์ มีปัญญา เป็นพหูสูต มีวัตร เป็นพระอริยะ เป็นสัตบุรุษ มีปัญญาดี, 2) ประเภทความสุขในสุขวรรค แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ความสุขแบบคฤหัสถ์ และความสุขแบบบรรพชิต และ 3) ลักษณะความสุขในสุขวรรค แบ่งออกเป็น 5 ลักษณะ ได้แก่ 1) ความสุขเกิดจากความไม่มีเวรต่อกัน, 2) ความสุขเกิดจากความไม่มีความเดือดร้อนเพราะกิเลส, 3) ความสุขเกิดจากการละความติดใจในกามคุณ 5, 4) ความสุขเกิดจากความปราศจากกิเลสเครื่องกังวล คือ ราคะ โทสะ และโมหะ, 5) ความสุขเกิดจากการอยู่ร่วมกับพระอริยะ และโดยที่สุดหมายถึง นิพพาน

  ความสุขที่ปรากฏในพระไตรปิฎก พบว่า 1) ประเภทของความสุขมี 13 ประเภท โดยจัดแบ่งเป็นคู่ ๆ ตรงกันข้ามกัน,จัดแบ่งความสุขออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ความสุขแบบคฤหัสถ์ และความสุขแบบบรรพชิต, 2) ระดับขั้นของความสุข จัดตามลำดับขั้นของความสุขจากหยาบไปถึงขั้นละเอียด แบ่งได้เป็น 10 ขั้น  ได้แก่ (1) กามสุข, (2) ปฐมฌานสุข, (3) ทุติยฌานสุข, (4) ตติยฌานสุข, (5) จตุตถฌานสุข (6) อากาสานัญจายตนสมาปัตติสุข, (7) วิญญาณัญจายตนสมาปัตติสุข, (8) อากิญจัญญายตนสมาปัตติสุข, (9) เนวสัญญานาสัญญายตนสมาปัตติสุข, (10) สัญญาเวทยิตนิโรธสมาปัตติสุขในระดับขั้นของความสุข 10 ขั้นนี้  สามารถแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ 1) ความสุขระดับกามสุข 2) ความสุขระดับฌานสุข และ 3) ความสุขระดับนิพพานสุข ระดับความสุข 3 ระดับนี้ สามารถนำมาจัดระดับความสุขได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1) ความสุขระดับโลกิยสุข, 2) ความสุขระดับโลกุตตรสุข

  การนำสุขวรรคไปใช้ในการดำเนินชีวิตเพื่อให้เกิดความสุข พบว่า มี 2 ลักษณะ คือ 1) ความสุขแบบโลกิยสุข 2) ความสุขแบบโลกุตตรสุข

References

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2539). พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2556). อรรถกถาภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต). (2561). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

24-06-2021