แนวทางการผลิตรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กและเยาวชนให้เป็นที่ยอมรับและได้รับความนิยม

ผู้แต่ง

  • พรสุรีย์ วิภาศรีนิมิต สาขาวิชาวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

คำสำคัญ:

รายการโทรทัศน์สำหรับเด็กและเยาวชน, การผลิตรายการโทรทัศน์, ได้รับความนิยม

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางและรูปแบบการผลิตรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กและเยาวชน เพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะแก่บุคลากรไทยพีบีเอส เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะในการผลิตรายการสำหรับเด็กและเยาวชนให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มผู้ชมและได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น และเพื่อให้ได้ข้อเสนอเชิงกลยุทธ์ต่อไทยพีบีเอสในการทำรายการเด็กและเยาวชนที่มีคุณภาพตามที่ กสทช. ระบุไว้ในหลักเกณฑ์ของระบบการจำแนกเนื้อหาที่ควรมีการส่งเสริม

             วิธีการศึกษาใช้การวิจัยแบบผสมระหว่างการวิจัยทางเอกสารและการสัมภาษณ์เชิงลึก โดยการวิจัยทางเอกสารเป็นการศึกษารายการสำหรับเด็กและเยาวชนที่ได้รับการยอมรับและความนิยมในปัจจุบันจำนวน 17 รายการ และข้อมูลจากการประชุม  ABU Children’s TV Program Item-Exchange ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 ส่วนการสัมภาษณ์เชิงลึกเป็นการสัมภาษณ์กลุ่มนักวิชาชีพผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ที่ได้รับการยอมรับและได้รับความนิยมในปัจจุบัน จำนวน 11 คน 

ผลการศึกษาจากการประชุม ABU ได้ข้อเสนอแนะแนวทางในการผลิตรายการสำหรับเด็กและเยาวชนว่า ผู้ผลิตควรให้ความสำคัญกับการวางแผนการผลิต  เริ่มต้นจากการกำหนดประเภทรายการให้ชัดเจนว่าเป็นรายการเด็ก  ไม่ใช่รายการเพื่อการศึกษา  กำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน มีความเฉพาะเจาะจง  โดยแบ่งตามพัฒนาการตามช่วงวัยของเด็ก รายการเด็กควรจะเป็นรายการที่จุดประเด็นชวนให้เด็กคิด มุ่งเน้นการสร้างเสริมจินตนาการ  ความคิดสร้างสรรค์ และปล่อยให้เด็กได้แสดงออกอย่างเสรีและเป็นธรรมชาติ  

            ผลการศึกษาและวิเคราะห์เนื้อหารายการที่ได้รับการยอมรับและความนิยมในประเทศ สามารถสรุปแนวทางการผลิตรายการแต่ละช่วงวัยได้ดังนี้ รายการสำหรับเด็กอายุ 3-5 ปี เน้นความสนุกสนาน ส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็ก สำหรับเด็กอายุ 6-12 ปี เน้นความสนุกสนาน สอดแทรกความรู้ทางวิชาการและแนวทางการใช้ชีวิต และรายการสำหรับเยาวชนอายุ 13-18 ปี เน้นโดนใจ ทันสมัย ดูสนุก

            ส่วนผลการวิเคราะห์เนื้อหารายการตามหลักเกณฑ์ที่กสทช.กำหนดให้ควรมีการส่งเสริม พบว่า รายการส่วนใหญ่มุ่งเน้นส่งเสริมความรู้เรื่องวิชาการมากกว่าส่งเสริมการใช้ทักษะชีวิตในสังคม

            ผลจากการสัมภาษณ์นักวิชาชีพผู้ผลิตรายการสามารถสรุปแนวทางการผลิตได้ว่า ควรมีการกำหนดแนวความคิดที่ชัดเจน มีรูปแบบการนำเสนอที่น่าสนใจโดยอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจในกลุ่มเป้าหมาย เนื้อหารายการควรสอดคล้องกับพัฒนาการตามช่วงวัยของเด็ก ด้วยการนำเสนอที่จุดประเด็นชวนให้เด็กคิด การทำรายการเด็กให้น่าสนใจควรทำรายการให้สนุกน่าดู แสดงออกถึงความเป็นธรรมชาติของเด็ก เป็นรายการที่เด็กและพ่อแม่สามารถดูร่วมกันได้ และมีการผลิตที่มีความพิถีพิถัน

References

1. กาญจนา แก้วเทพ นันทกา สุธรรมประเสริฐ และเอกธิดา เสริมทอง. (2554). ผู้คนที่หลากหลายในการสื่อสาร : เด็ก สตรี
และผู้สูงอายุ. กรุงเทพมหานคร : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภาพพิมพ์.

2. พรรณพิมล วิปุลากร. (2554). ทำไมเด็กจึงต้องรู้เท่าทันสื่อ. ใน ธาม เชื้อสถาปนศิริ. รู้ทันสื่อ.
กรุงเทพมหานคร : บริษัทออฟเซ็ท ครีเอชั่น จำกัด. หน้า 43-54.

3. อิทธิพล ปรีติประสงค์.(2555). ร่าง คู่มือการพัฒนารายการโทรทัศน์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการ
เรียนรู้สำหรับเด็ก.กรุงเทพมหานคร : สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว.

4. Anderson,Daniel A. Lavigne , Heather J.and Hanson,Katherine G. (2013 ) The Educational Impact of Television. Media
Effects / Media Psychology. USA : Blackwell Publishing Ltd

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-02-25