การสร้างภาพตัวแทนวีรบุรุษสามัญชนในภาพยนตร์ไทย

ผู้แต่ง

  • บัญยง พูลทรัพย์ นักศึกษาระดับปริญญาเอก คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
  • สมสุข หินวิมาน คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)
  • โสภัทร นาสวัสดิ์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

คำสำคัญ:

กระบวนการสร้างภาพตัวแทน, วีรบุรุษสามัญชน, ภาพยนตร์ไทย, อัตลักษณ์

บทคัดย่อ

บทความวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ 1) เพื่อวิเคราะห์กระบวนการสร้างภาพตัวแทนวีรบุรุษสามัญชนในภาพยนตร์ไทย และ 2)เพื่อศึกษาอัตลักษณ์ของวีรบุรุษสามัญชนในภาพยนตร์ไทย โดยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยจะอาศัยวิธีการวิจัยด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา (Textual analysis) ผ่านกระบวนการเล่าเรื่อง (Narrative) ในภาพยนตร์แต่ละเรื่อง โดยใช้กรอบแนวคิดการเขียนประวัติศาสตร์จากเบื้องล่าง (History From Below) เพื่อใช้ศึกษาการสร้างภาพตัวแทนวีรบุรุษ จากภาพยนตร์ไทยทั้งหมด 11 เรื่อง 1)บางระจัน 2)องค์บาก 3)ซาไกยูไนเต็ด 4)โหมโรง 5)หลวงพี่เท่ง 6)มนุษย์เหล็กไหล 7)สียามา 8)ครูบ้านนอก บ้านหนองฮีใหญ่ 9)อินทรีแดง 10)ซามูไร อโยธยา 11)ขุนรองปลัดชู เพื่อศึกษาภาพยนตร์ไทยประกอบสร้างภาพตัวแทนวีรบุรุษสามัญชนอย่างไรและภาพตัวแทนดังกล่าวสัมพันธ์กับโลกความเป็นจริงอย่างไร

          ผลวิจัยพบว่าการสร้างภาพตัวแทนวีรบุรุษสามัญชนในภาพยนตร์ไทยส่วนใหญ่นำเสนอในรูปแบบของภาพยนตร์แอ๊คชั่น (Action Film) และมีโครงเรื่องแบบปฏิบัติภารกิจ (Mission Accomplished Plot) วัตถุประสงค์ในการต่อสู้ของตัวละครวีรบุรุษแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือเพื่อสถาบันหลัก ได้แก่ 1)เพื่อชาติ (Theme of Nationalism) 2)เพื่อศาสนา (Theme of Religion) 3)เพื่อพระมหากษัตริย์ (Theme of Monarchy) กลุ่มที่สองคือเพื่อวัตถุประสงค์อื่น ได้แก่ 1)ต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์ 2)คัดค้านอำนาจรัฐ 3)ขับไล่ต่างชาติ  โดยคุณลักษณะของวีรบุรุษสามัญชนที่พบในภาพยนตร์ไทย ทั้ง 11 เรื่องมี “จุดร่วม” ที่เหมือนกันคือคุณสมบัติในการเสียสละตนเองเพื่อปกป้องและแก้ไขวิกฤติที่เกิดขึ้นกับสังคมส่วนรวม อันเปรียบเสมือนกับรากฐานที่จำเป็นต้องปรากฎในตัวละครวีรบุรุษ และตัวละครวีรบุรุษมักแก้ไขปัญหาด้วยการใช้ทั้งอาวุธแบบละมุนละม่อมกับอาวุธที่ใช้ความรุนแรง ส่วนจุดจบของตัวละครวีรบุรุษมีสองแนวทาง 1)กลับสู่ถิ่นฐานบ้านเกิดของตนหรือไม่ก็ต้องปกปิดตัวตน 2)ตาย

            องค์ประกอบประการแรกที่มีผลต่อการสร้างภาพตัวแทนวีรบุรุษสามัญชนในภาพยนตร์ไทยก็คือ องค์ประกอบด้านบริบททางสังคม (Social Context) ซึ่งผู้วิจัยได้ค้นพบว่าปัจจัยทางด้านเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในบริบทสังคมอันอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง ก็ส่งผลต่อการสร้างความเป็นวีรบุรุษในโลกของภาพยนตร์ และในทางกลับกันวีรบุรุษในโลกของภาพยนตร์ ก็เป็นการจุดประกายให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง องค์ประกอบประการต่อมาจากการศึกษาการสร้างภาพตัวแทนวีรบุรุษสามัญชนในภาพยนตร์ไทย พบว่าภาพยนตร์ไทยที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นไปตามแนวคิดของ E.P. Thompson คือ History from Below เสียทั้งหมดและไม่ใช่แบบที่ภาพยนตร์วีรบุรุษประเภทอื่นๆที่นำเสนอ History from Above แท้จริงแล้วในกรณีของสังคมไทยสิ่งที่ภาพยนตร์สร้างก็คือ History from  The Middle กล่าวคือ ชนชั้นนายทุน ซึ่งเป็นชนชั้นกลางของสังคมเป็นผู้เล่าเรื่องราวและกำหนดทิศทางของภาพยนตร์และองค์ประกอบสุดท้ายสิ่งที่ภาพยนตร์ได้สร้างขึ้นมานั้นทำให้เกิดกระบวนการที่เรียกว่า การสร้างความเป็นจริงทางสังคม(Social Construction of Reality)  ทำให้ผู้ชมที่รับชมภาพยนตร์เชื่อว่าสิ่งที่ภาพยนตร์สร้างขึ้นมานั้นคือเรื่องจริง จนทำให้เกิดภาพตัวแทนวีรบุรุษสามัญชนขึ้น และเมื่อสิ่งที่ภาพยนตร์นำเสนอหรือเรียกว่า “โลกทางสังคม” ประกอบกับความรู้เดิมที่มีอยู่หรือเรียกว่า “โลกทางกายภาพ” จึงได้เป็นอัตลักษณ์ของวีรบุรุษสามัญชน

References

1. กาญจนา แก้วเทพ และสมสุข หินวิมาน. (2551). สายธารแห่งนักคิดทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองกับ
สื่อสารศึกษา. กรุงเทพฯ: ภาพพิมพ์.

2. กำจร หลุยยะพงศ์ และสมสุข หินวิมาน. (2551). ภาพยนตร์ไทยในรอบสามทศวรรษ (พ.ศ. 2520-2547):
กรณีศึกษาตระกูลหนังผี หนังรัก และหนังยุคหลังสมัยใหม่. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.

3.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และมนตรี เจนวิทย์การ. (2524). “วิวัฒนาการอุดมการณ์ในสังคมไทย” ใน ฉัตรทิพย์ นาถสุภาและคณะ. เศรษฐศาสตร์กับประวัติศาสตร์ไทย. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์ หน้า 227-8.

4. นิธิ เอี่ยวศรีวงค์. (2544). วีรบุรุษในวัฒนธรรมไทย. วารสารเศรฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
19(3-4 กันยายน-ธันวาคม) หน้า 1-19.

5. สมสุข หินวิมาน. (2548). “ทฤษฎีสำนักวัฒนธรรมศึกษา.” ใน ประมวลสาระชุดวิชาปรัชญานิเทศศาสตร์
และทฤษฎีการสื่อสาร หน่วยที่ 13. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช.

6. สัญญา สัญญาวิวัฒน์. (2526). สังคมวิทยาปัญหาสังคม. กรุงเทพฯ: เจ้าพระยาการพิมพ์.

7. สุภา จิตติวสุรัตน์. (2545). การสร้างความหมายทางสังคมและการรับรู้ความเป็นจริงในภาพยนตร์อิงเรื่อง
จริง. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์
มหาวิทยาลัย.

8. Campbelle, Joseph. (1973). The hero with a Thousand faces. Princeton, New jersey:
Princeton University Press.

9. Daniel J. Boorstin. (1978). “hero to celebrity”, The Image. New York : Atheneum.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-02-25