การสร้างพื้นที่สาธารณะและการสร้างเครือข่ายเพื่อการสื่อสารแบบมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนจิตอาสาเพื่อแก้ไขปัญหาเยาวชนในชุมชน ผ่านสภาเด็กและเยาวชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ผู้แต่ง

  • ปฐมพงษ์ พุ่มพฤกษ์ นักศึกษาปริญญาเอก คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
  • โสภัทร นาสวัสดิ์ อาจารย์ที่ปรึกษาหลัก คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
  • สมสุข หินวิมาน อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ร่วมคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คำสำคัญ:

สภาเด็กและเยาวชน, พื้นที่สาธารณะ, เครือข่าย, การสื่อสารแบบมีส่วนร่วม, จิตอาสา, Children and Youth Council, public sphere, network, participatory communication, public consciousness

บทคัดย่อ

งานวิจัยเรื่อง “การสร้างพื้นที่สาธารณะและการสร้างเครือข่ายเพื่อการสื่อสารแบบมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนจิตอาสาเพื่อแก้ไขปัญหาเยาวชนในชุมชน ผ่านสภาเด็กฯ อยุธยา” เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการเก็บข้อมูลในสนามวิจัย เป็นเวลา 2 ปี ใช้การสังเกต การสังเกตแบบมีส่วนร่วม การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก และศึกษาจากบริบทที่เกี่ยวข้อง มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) วิเคราะห์บริบทที่เกี่ยวข้องกับการเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของสภาเด็กฯ 2) ศึกษาและวิเคราะห์การสร้างพื้นที่สาธารณะเพื่อการสื่อสารแบบมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนจิตอาสาเพื่อแก้ไขปัญหาเยาวชนในชุมชน ผ่านสภาเด็กฯ ในอยุธยา 3) ศึกษาและวิเคราะห์การสร้างเครือข่ายเพื่อการสื่อสารแบบมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนจิตอาสาเพื่อแก้ไขปัญหาเยาวชนในชุมชน ผ่านสภาเด็กฯ ในอยุธยา

ผลการศึกษส่วนแรกพบว่า  ปัญหาของเด็กและเยาวชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้แก่ 1.ปัญหาจากการขาดจิตสำนึกของเด็กและเยาวชนในการแยกแยะสิ่งที่ควรทำกับไม่ควรทำอันเนื่องมาจากบริบทแวดล้อมของตนเอง และขาดการสร้างเงื่อนไข 2. ปัญหาการด้อยโอกาสทางครอบครัว เศรษฐกิจและสังคม สภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่ไม่เอื้อให้เด็กได้พัฒนา เพราะต้องคำนึงถึงความเป็นอยู่ก่อน ครอบครัวไม่สมบูรณ์ ขาดปัจจัย 4 ในส่วนของบริบทชุมชนที่เป็นจุดแข็งในการส่งเสริมการเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของสภาเด็กฯ ได้แก่ บริบทชุมชนด้านภูมิศาสตร์ ในการรวบรวมทรัพยากรต่าง ๆ  บริบทชุมชนด้านประวัติศาสตร์ เกิดความภูมิใจของเยาวชนในความเป็นราชธานีเก่าและมรดกโลกของอยุธยา บริบทชุมชนด้านวัฒนธรรม ในการมีประเพณี ที่เป็นเอกลักษณ์ บริบทชุมชนด้านการศึกษา มีหลักสูตรทีส่งเสริมในรายวิชาด้านการมีจิตอาสา บริบทชุมชนด้านศาสนา มีวัดเป็นจำนวนมากเอื้อต่อการใช้เป็นพื้นที่ขัดเกลาจิตใจ บริบทชุมชนด้านเศรษฐกิจ มีต้นทุนทางวัฒนธรรมและสินค้าชุมชน บริบทด้านครอบครัว มีจิตสำนึกรักบ้านเกิด รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน บริบทชุมชนด้านการเมือง มีผู้ใหญ่ที่ให้การสนับสนุนเด็ก และบริบทชุมชนด้านการสื่อสาร มีการใช้สื่อที่หลากหลาย ซึ่งจากบริบทที่เป็นจุดแข็งในขณะเดียวกันก็อาจเป็นจุดอ่อนหรือข้อจำกัดได้เช่นกัน ได้แก่บริบทด้านครอบครัว ในบางส่วนอยู่ในครอบครัวเชิงเดี่ยว เกิดสภาวะแปลกแยก บริบทด้านการเมือง บุคลากรมีจิตอาสาไม่เท่ากัน และบริบทด้านการสื่อสาร เด็กและเยาวชนไม่รู้เท่าทันสื่อ

ผลการศึกษาส่วนที่สอง สภาเด็กและเยาวชนในจังหวัดอยุธยา ไม่ได้เป็นพื้นที่สาธารณะ แบบสมบูรณ์ในอุดมคติ ตามเจตคติของ เจอร์เกนฮาเบอร์มาส แต่ก็เป็นพื้นที่สาธารณะในระดับหนึ่ง ที่ช่วยพัฒนาจิตอาสามาเป็นเงื่อนไขในการขับเคลื่อนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนในจังหวัดอยุธยา โดยอาศัยการออกแบบการสื่อสารที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่สาธารณะในรูปแบบสภาเด็กฯ เน้นการสื่อสารแบบมีส่วนร่วม ซึ่ง สภาเด็กฯ เป็นพื้นที่สาธารณะที่ผลักดันโดยรัฐ แต่ใช้กลยุทธ์การสื่อสารช่วยในการขับเคลื่อนพื้นที่สาธารณะ ขับเคลื่อนจากการมีจิตสำนึกรักบ้านเกิด สุดท้าย จิตอาสาของเด็กและเยาวชนเปรียบเหมือนเมล็ดพันธุ์ ที่รอการเจริญงอกงาม เมล็ดพันธุ์นี้จะไม่สามารถเจริญงอกงามได้หากขาดการลดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย สภาเด็กฯ จึงเป็นพื้นที่ในการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ สร้างเงื่อนไขในการเจริญเติบโต กระตุ้นให้เด็กและเยาวชนกล้าคิด กล้าทำ ผ่านโครงการและกิจกรรม ที่ช่วยพัฒนาเด็กและเยาวชนทั้งทางด้านทักษะการทำงาน และการสร้างจิตสำนึกที่ดี ควบคู่ไปกับการได้ลงมือปฏิบัติงานจริง

ผลการศึกาส่วนที่สาม เครือข่ายสภาเด็กฯ ในอยุธยา อยู่ภายใต้การดูแลของรัฐ มีเด็กเป็นแกนนำโดยมีผู้ใหญ่ที่เข้าใจเด็กเป็นผู้สนับสนุน เป็นเครือข่ายที่มีกระบวนการพัฒนาความรู้ด้านการสื่อสาร โดยมีการใช้กลยุทธ์การสื่อสารแบบผสมผสานเป็นเครื่องมือที่สำคัญ โดยมีกระบวนการสร้างองค์ความรู้ด้านการสื่อสาร ลักษณะของเครือข่ายในแต่ละระดับชั้นมีคุณลักษณะที่เป็นทั้งจุดร่วมและต่าง การสร้างเครือข่ายกับการขับเคลื่อนจิตอาสา มีการใช้สื่อแบบผสมผสาน มีการสร้างความสัมพันธ์ในเครือข่ายโดยมีเด็กเป็นแกนนำ สำหรับเด็ก ๆ จะมีความสัมพันธ์แบบพี่น้อง ส่วนความสัมพันธ์ของเด็กกับผู้ใหญ่จะขึ้นอยู่กับตัวบุคคล ไม่ใช่ผู้ใหญ่ทุกคนจะทำงานกับเด็กได้ ส่วนความสัมพันธ์กับสภาเด็กฯ แห่งประเทศไทยจะเป็นความสัมพันธ์ตามโครงสร้างหน้าที่ ในส่วนของการขับเคลื่อนจิตอาสาของเครืองข่าย จะเน้นไปที่การพัฒนาตนเอง เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมได้ สุดท้ายเครือข่ายสภาเด็กฯ มีกระบวนการในการรักษาและต่อยอดเครือข่าย ให้มีความยั่งยืน ได้แก่ การจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง และจัดกิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์อยู่เสมอ มีการกำหนดกลไลในการสร้างแรงจูงใจ การจัดสรรทรัพยากรอย่างเพียงพอ มีการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาซึ่งกันและกัน และสุดท้ายมีการสร้างผู้นำรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง

คำสำคัญ : สภาเด็กและเยาวชน/พื้นที่สาธารณะ/เครือข่าย/การสื่อสารแบบมีส่วนร่วม/จิตอาสา

References

กรรณิกา ควรขจร. (2557). เส้นทางการเรียนรู้โลกและสังคมด้วยจิตอาสา. ภาพพิมพ์.

กาญจนา แก้วเทพ. (2548). เอกสารการสอนชุดวิชา 15234 การสร้างสารในงานนิเทศศาสตร์.(พิมพ์ครั้งที่ 1.). มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

กาญจนา แก้วเทพ, และสมสุข หินวิมาน. (2560). สายธารแห่งนักคิดทฤษฏีเศรษฐศาสตร์การเมืองกับ

การสื่อสารศึกษา. อินทนิล.

ปาริชาติ สถาปิตานนท์, ดวงพร คำนูญวัฒน์, หฤทัย ขัดนาค, สิวพร ศรีสมัย, ดวงแข บัวประโคน และ

จำเริญ ใยชิด. (2549). การสื่อสารแบบมีส่วนร่วมและการพัฒนาชุมชน: จากแนวคิด

สู่ปฏิบัติการวิจัยในสังคมไทย. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).

จันทนา อุดม, หสริน สัจเดย์, นงนุช ไพบูลย์รัตนานนท์, และ ไพโรจน์ บุตรชีวัน. (2559). สถาบันหลักของสังคมกับการพัฒนาเยาวชน. วารสารวิจัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์, 11(2), น. 227-237.

กระทรวงการพัฒนาและความมั่นคงของมนุษย์ กรมกิจการเด็กและเยาวชน. (2563). บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา. https://ayutthayashelter.dcy.go.th

เดอร์แมตเทอร์. (2561). 7Social Movement อัพเดทเทรนด์ ‘การเคลื่อนไหวทางสังคม ปี 2017’. http://www.matter.co.th/pulse/7-global-social-movement/40196

ไทยรัฐออนไลน์. (2561). เยาวชนจิตอาสา. http://www.thairath.co.th/tag/เยาวชนจิตอาสา

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (2557). Gen A” ปลุกพลังพลเมืองหัวใจอาสา. http://www.thailhealth.or.th/Content/25097

สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส. (2561). พลัง Gen A พลังพลเมือง. http://www.thailhealth.or.th/tag/สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-12-07