ทศกัณฐ์: การสื่อสารความหมายและสัมพันธบทในบริบทวัฒนธรรมประชานิยม

ผู้แต่ง

  • ภัทริยา ศรีสุข นักศึกษาปริญญาเอก คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
  • มาโนช ชุ่มเมืองปัก อาจารย์ที่ปรึกษาหลัก คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
  • สมสุข หินวิมาน อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ร่วม คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คำสำคัญ:

ทศกัณฐ์, วัฒนธรรมชั้นสูง, วัฒนธรรมประชานิยม

บทคัดย่อ

การวิจัยเรื่อง “ทศกัณฐ์: การสื่อสารความหมายและสัมพันธบทในบริบทวัฒนธรรมประชานิยม”       เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) มุ่งศึกษาวิเคราะห์ตัวละครทศกัณฐ์ในบริบทวัฒนธรรมประชานิยมในช่วง พ.ศ. 2557- 2561 โดยมีตัวบทต้นทาง ได้แก่ ทศกัณฐ์ในรามเกียรติ์ฉบับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ร. 1) จิตรกรรมฝาผนังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และนาฏศิลป์โขนของ   กรมศิลปากรที่มีสัมพันธบททศกัณฐ์ร่วมกับวรรณคดีและตัวบทปลายทาง ได้แก่ นิยายภาพชุดรามเกียรติ์ ภาพยนตร์แอนิเมชัน เรื่อง “๙   ศาสตรา” และโฆษณาเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ชุด “เที่ยวไทยมีเฮ” โดยใช้แนวคิดสัมพันธบท (intertextuality) วิเคราะห์บริบททางสังคมและประเภทสื่อ รูปแบบภายนอก ได้แก่ รูปร่างหน้าตา สีกาย เครื่องแต่งกาย อาวุธ และฉากที่มีการปรากฏตัวของตัวละครทศกัณฐ์  รูปแบบภายใน ได้แก่ ลักษณะนิสัย ความสามารถ ภูมิหลัง บทบาท และเนื้อหาในการสื่อความหมายของตัวละครทศกัณฐ์     ว่ามีการคงเดิม (convention) ) การขยายความ (extension) การตัดทอน (reduction) และการดัดแปลง (modification) และศึกษาผู้รับสารโดยใช้แนวคิดการถอดรหัส (decoding) และการตีความหมาย (interpretation) ตัวละครทศกัณฐ์ในสื่อวัฒนธรรมประชานิยม โดยการสัมภาษณ์เชิงลึก(in-depth interview) กลุ่มผู้รับสารเฉพาะเจาะจงที่เป็นนักวิชาการและวิชาชีพด้านการผลิตสื่อ ที่มีความแตกต่างในด้าน อายุ เพศ ระดับการศึกษาซึ่งเป็นต้นทุนความรู้เดิมเกี่ยวกับตัวละครทศกัณฐ์ สถานภาพทางสังคม (อาชีพ) จุดยืนทางการเมืองและวัฒนธรรมของผู้รับสาร

ผลการวิจัยพบว่า ทศกัณฐ์ในวัฒนธรรมประชานิยมมีสัมพันธบทกับวัฒนธรรมชั้นสูงทั้งรูปแบบและเนื้อหาในลักษณะคงเดิม (convention) ตัดทอน (reduction) และดัดแปลง (modification)  และได้มีการผสมผสานข้ามสายพันธุ์ทางวัฒนธรรมรูปแบบอะมีบา (amoeba pattern) ในหนังสือนิยายภาพชุดรามเกียรติ์  รูปแบบผีเสื้อ ในภาพยนตร์แอนิเมชัน เรื่อง “๙ ศาสตรา” (butterfly pattern) และรูปแบบปะการัง      (coral pattern) ในภาพยนตร์โฆษณา ชุด “เที่ยวไทยมีเฮ” เพื่อการสืบทอดวัฒนธรรมและผลิตซ้ำเพื่อเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมที่นำเสนอความเป็นไทย โดยกลุ่มผู้รับสารมีการอ่านและตีความหมายภายใต้จุดยืนทางการเมืองและวัฒนธรรมแตกต่างกัน ดังนี้ กลุ่มที่มีจุดยืนทางการเมืองและวัฒนธรรมแนวอนุรักษ์นิยม (conservatism) มีการถอดรหัสและตีความหมายในจุดเดียวกับที่ผู้ส่งสารเข้ารหัสมา (preferred reading)   ให้รักษาสัมพันธบทคงเดิมในนิยายภาพชุดรามเกียรติ์ แต่มีการต่อรอง (negotiated reading) ให้รักษาแก่นสำคัญของตัวละครทศกัณฐ์ในภาพยนตร์แอนิเมชันและมีการใช้จุดยืนตรงกันข้าม (oppositional reading) กับที่ผู้ส่งสารเข้ารหัสมา โดยให้รักษาสัมพันธบทคงเดิมที่เป็นแก่นและกระพี้ของความเป็นโขนทศกัณฐ์ในภาพยนตร์โฆษณาเพื่อเป็นการสืบทอดวัฒนธรรมชั้นสูงให้คงอยู่ ในขณะที่กลุ่มแนวเสรีนิยม (liberalism) มีการถอดรหัสและตีความหมายในจุดเดียวกับที่ผู้ส่งสารเข้ารหัสมา (preferred reading) ในทุกประเภทสื่อ โดยพิจารณาจากวัตถุประสงค์การสร้างงาน บริบทสังคมและประเภทสื่อ และผู้รับสารซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายทางธุรกิจเป็นสำคัญ

คำสำคัญ:  ทศกัณฐ์, วัฒนธรรมชั้นสูง, วัฒนธรรมประชานิยม

References

กมล สมวิเชียร. (2514). อนุรักษ์นิยมแบบไทย: ข้อสังเกต. วารสารสังคมศาสตร์, 8(1), 158-166. http://www.library.polsci.chula.ac.th/dl/4eaef35333b45c9b17583e7ca3e9c2d3

กาญจนา แก้วเทพ. (2545). สื่อบันเทิง: อำนาจแห่งความไร้สาระ. ออล อเบ้าท์ พริ้นท์.

กาญจนา แก้วเทพ. (2553). แนวพินิจใหม่ในสื่อสารศึกษา. ภาพพิมพ์.

กาญจนา แก้วเทพ. (2557). ศาสตร์แห่งสื่อและวัฒนธรรมศึกษา. ภาพพิมพ์.

กาญจนา แก้วเทพ, และ สมสุข หินวิมาน. (2551). สายธารแห่งนักคิดทฤษฏีเศรษฐศาสตร์การเมืองกับการสื่อสารศึกษา. ภาพพิมพ์.

กุหลาบ มัลลิกะมาส. (2521). วรรณคดีวิจารณ์. มหาวิทยาลัยรามคําแหง.

ชมได้แล้ว!! MV เที่ยวไทยมีเฮ ฉบับปรับแก้ ตัดฉากทศกัณฐ์ หยอดขนม เซลฟี่. (2559, 23 กันยายน). ข่าวสด. https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_20848

ชลนรี กล่อมใจ. (2559). การสื่อสารความหมายและรสนิยมการบริโภคซูชิในสังคมไทย [วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์]. หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

http://ethesisarchive.library.tu.ac.th/thesis/2016/TU_2016_5707030366_5665_6341.pdf

ชัยพร ม่วงปรางค์. (2559). วัฒนธรรมซุปเปอร์ฮีโร่ [วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยศิลปากร]. มหาวิทยาลัยศิลปากร.

http://www.thapra.lib.su.ac.th/thesis/showthesis_th.asp?id=0000012974

พิเชษ แสงทอง. (2555). Intertextuality จาก “ตัวบท” สู่ “สัมพันธบท”. วารสารสงขลานครินทร์ ฉบับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 18(3), 261-270.

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน. (2564, 3 กุมภาพันธ์). ประชาชาติธุรกิจ. https://www.prachachat.net/csr-hr/news-604476

สุรพศ ทวีศักดิ์. เสรีนิยมกับอนุรักษ์นิยมอยู่ร่วมโลกกันได้ไหม. (2564). ประชาไทออนไลน์.

https://prachatai.com/journal/2019/04/81980

อุมาพร มะโรณีย์. (2551). สัมพันธบทของการเล่าเรื่องในสื่อการ์ตูน ละคร โทรทัศน์และนวนิยาย. [วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย]. Chulalongkorn University Intellectual Repository (CUIR). http://cuir.car.chula.ac.th/bitstream/123456789/14715/1/Umaporn_ma.pdf

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-12-07