มายาคติร่างกายของคนชายขอบทางเพศวิถีในงานโฆษณา

ผู้แต่ง

  • บดินทร์ เดชาบูรณานนท์ นักศึกษาปริญญาเอก คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และอาจารย์ประจำ สาขาวิชาการตลาดดิจิทัล คณะบัญชีและวิทยาการจัดการ วิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอก
  • การดา ร่วมพุ่ม ดร. อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
  • กำจร หลุยยะพงศ์ รศ.ดร. อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คำสำคัญ:

มายาคติ, ร่างกาย, คนชายขอบ , เพศวิถี , โฆษณา

บทคัดย่อ

           การวิจัยเรื่องมายาคติร่างกายของคนชายขอบทางเพศวิถีในงานโฆษณา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการประกอบสร้างความหมายด้านร่างกายของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในงานโฆษณา และการถอดรหัสเรื่องร่างกายในงานโฆษณาของผู้ชมที่มีความละเอียดอ่อนเชิงเพศภาวะบนความหลากหลายทางร่างกาย โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยการวิเคราะห์ตัวบท (Textual Analysis) และการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) แนวคิดทฤษฎีที่ใช้เป็นกรอบในการศึกษา ได้แก่ ร่างกายของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ สัญวิทยาและการเล่าเรื่อง  การโฆษณา  และการเข้ารหัสและการถอดรหัส

           ผลการวิจัยพบว่า งานโฆษณานำเสนอในประเด็นเรื่องร่างกายของคนชายขอบทางเพศวิถี จำนวน 7 เรื่อง แสดงให้เห็นถึงอำนาจในการควบคุม กดทับร่างกาย ในการประกอบสร้างความหมายด้านร่างกายที่ไม่หยุดนิ่ง ซึ่งส่งผลให้เกิดเป็นมายาคติร่างกายของคนชายขอบทางเพศวิถีที่หลากหลาย ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ กล่าวคือ 1) การจัดการร่างกายของคนชายขอบทางเพศวิถีที่สังคมไม่ยอมรับหรือได้รับการยอมรับ กล่าวคือ ร่างกายของผู้หญิงข้ามเพศเป็นร่างกายที่มีสินค้าอาหารเข้ามากำหนด หากพิจารณาในมิติการจัดการร่างกายของตัวละคร มีการใช้อำนาจในการจัดการร่างกาย ในการเปลี่ยนร่างกายจากชายเป็นสาวสวยอย่างรื่นรมย์ ชวนให้เพศตรงข้ามหมายปอง ภายหลังความจริงปรากฏว่าสาวสวยเป็นผู้หญิงข้ามเพศจึงมีการปฏิเสธร่างกายหากแต่เจ้าของร่างกายก็มีความภูมิใจกับร่างกายนี้  2) การจัดการร่างกายของคนชายขอบทางเพศวิถี เพื่อต่อสู้ให้เกิดการยอมรับ กล่าวคือ ร่างกายมีการจำแลงแปลงกายแบบชั่วคราว และร่างกายของผู้หญิงข้ามเพศ โดยมีสินค้าความงามเข้ามากำหนด การจัดการร่างกายของตัวละครต้องใช้ความอดทนและต่อสู้ที่รุนแรงขึ้นเพื่อให้เกิดการยอมรับจากครอบครัวและสังคมรอบข้าง และ 3) การก้าวข้ามร่างกายของคนชายขอบทางเพศวิถี อันนำไปสู่ความเท่าเทียม เมื่อสินค้าปลดปล่อยไปสู่การสร้างพลังการเปลี่ยนแปลง เพื่อรณรงค์หรือสนับสนุนโดยหยิบประเด็นที่เรื่องความเท่าเทียมของร่างกายทางเพศสภาพมานำเสนอ ภายใต้อำนาจบางอย่างที่เข้ามากำหนดเช่นกัน

          ในส่วนของการถอดรหัสความหมายเรื่องร่างกายในงานโฆษณาของผู้ชมที่มีความละเอียดอ่อนเชิงเพศภาวะบนความหลากหลายทางร่างกาย มีการอ่านความหมายที่มีความหลากหลาย  สำหรับมายาคติในรูปแบบแรก เป็นการจัดการร่างกายของคนชายขอบทางเพศวิถีที่สังคมไม่ยอมรับหรือได้รับการยอมรับ มีการอ่านความหมายแบบต่อต้านและต่อรอง มายาคติในรูปแบบที่สอง เป็นการจัดการร่างกายของคนชายขอบทางเพศวิถี เพื่อต่อสู้ให้เกิดการยอมรับ มีการอ่านความหมายแบบสอดคล้องกับผู้ผลิต และการอ่านความหมายแบบต่อรอง ทางด้านมายาคติในรูปแบบที่สาม เป็นการก้าวข้ามร่างกายของคนชายขอบทางเพศวิถี อันนำไปสู่ความเท่าเทียม มีการอ่านความหมายแบบสอดคล้องกับผู้ผลิต และการอ่านความหมายแบบต่อรอง

References

กาญจนา แก้วเทพ, และ สมสุข หินวิมาน. (2553). สายธารแห่งนักคิดทฤษฎี เศรษฐศาสตร์ การเมืองกับสื่อการศึกษา. ภาพพิมพ์.

กำจร หลุยยะพงศ์. (2547). หนังอุษาคเนย์: การศึกษาภาพยนตร์แนววัฒนธรรมศึกษา. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

กำจร หลุยยะพงศ์. (2562). ผู้รับสาร. ใน เอกสารประกอบการสอนชุดวิชาสื่อศึกษา. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

ชีรา ทองกระจาย. (2561). ความเท่าเทียมกันทางเพศสภาพ. ใน เอกสารชุดวิชาการพัฒนามนุษย์ในบริบทโลก. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

ฐิติวัฒน์ สมิตินันท์. (2553). การสร้างตัวละครเพศที่สามในภาพยนตร์ไทย [วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, ศูนย์ข้อมูลการวิจัยดิจิทัล “วช”.]. ศูนย์ข้อมูลการวิจัยดิจิทัล “วช”.https://dric.nrct.go.th/index.php?/Search/SearchDetail/252314

ธันย์ชนก กันทะวงศ์. (2561). ภาพแทนเพศทางเลือกในภาพยนตร์ไทย. ใน การนำเสนอโครงการประชุมวิชาการและนำเสนอผลงานระดับชาติของนักศึกษาด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ครั้งที่ 1/2561 (น. 32-46). คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.

นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ. (2558). เควียร์กับการวิพากษ์มานุษยวิทยากระแสหลัก. ศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร.

นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2538). ผ้าขาวม้า, ผ้าซิ่น, กางเกงใน และ ฯลฯ ว่าด้วยประเพณี, ความเปลี่ยนแปลง และเรื่องสรรพสาระ. มติชน.

ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล. (2541). เผยร่างพรางกาย: ทดลองมองร่างกายในศาสนาปรัชญาการเมือง ประวัติศาสตร์ ศิลปะและมานุษวิทยา. คบไฟ.

ปิยลักษณ์ โพธิวรรณ์. (2557). คนข้ามเพศ: ตัวตน วัฒนธรรมย่อย และพื้นที่ทางสังคม. ดำรงวิชาการ, 10(1), 1-28. http://www.damrong-journal.su.ac.th/upload/pdf/56_5.pdf

พิเชษฐ สายพันธ์. (2545). เกย์: ในฉากชีวิตแห่งสีลมสถาน. ใน ชีวิตชายขอบ: ตัวตนกับความหมาย. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.

วิสาขา เทียมลม. (2561). สวยสั่งได้: ผู้หญิงไทยกับศัลยกรรมความงามแบบเกาหลี [ปริญญานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต]. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. https://ci.tu.ac.th/uploads/ci/academic-work/phd-thesis/61visakha.pdf

ศิวรัฐ หาญพานิช. (2559). ความเป็นชายที่มีอำนาจนำและความสัมพันธ์ทางเพศสถานะในโฆษณารถที่ออกอากาศทางโทรทัศน์ พ.ศ. 2558 - 2559 [วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์]. หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. https://ci.tu.ac.th/uploads/ci/academic-work/master-thesis/59ma_sivarat.pdf

สุริชัย หวันแก้ว. (2546). กระบวนการกลายเป็นคนชายขอบ. คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาสังคมวิทยา สำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ.

อโนพร เครือแตง, และ สุไลพร ชลวิไล. (2562). เพศแห่งสยาม. สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ สังกัด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน).

Barthes, R. (1993). Mythologies. Cox & Wymand.

Foucault, M. (1991). Discipline and punish: The birth of a prison. Penguin.

Giannetti, L. (1988). Understanding movies. Prentice-Hill.

Hall, E. (2003). Queer theories. Palgrave Macmillan.

Hall, S. (1980). Encoding/decoding. In Stuart Hall, Dorothy Hobson, Andrew Lowe, and Paul Willis (Eds.), Culture, Media, Language (pp. 51-61). Unwin Hyman.

https://spstudentenhancement.files.wordpress.com/2015/03/stuart-hall-1980.pdf

Idrus, N. I, & Hymans, T. D. (2014). Balancing benefits and harm: Chemical use and bodily transformation among Indonesia’s transgender waria. The International Journal on Drug Policy, 25(4), 789–797. https://doi.org/10.1016/j.drugpo.2014.06.012

Shilling, C. (1993). The body and social theory. Sage.

Williamson, J. (1978). Decoding advertisements: Ideology and meaning in advertising. Marion Boyars.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-12-07