การประเมินผลการดำเนินงานด้านการป้องกันอาชญากรรมภาคประชาชน

Main Article Content

เอกอนงค์ ศรีสำอางค์
ธนภัทร ปัจฉิมม์

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแนวทางการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามกรอบการป้องกันอาชญากรรมที่มีประสิทธิภาพ ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งเพื่อจัดทำเครื่องมือในการประเมินผลตัวชี้วัดทั้งระดับผลลัพธ์และระดับผลผลิตภายใต้กรอบการป้องกันอาชญากรรมที่มีประสิทธิภาพ ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นการวิจัยผสมผสานระหว่างวิจัยเชิงปริมาณและการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยกลุ่มตัวอย่างเชิงปริมาณเป็นประชาชนจำนวน 1,250 คน ใช้แบบสอบถามในการเก็บข้อมูลกับ ทำการกระจายการเก็บข้อมูลจากประชาชนจำแนกตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดบูรณาการ เรื่องการจัดตั้งกลุ่มจังหวัดและกำหนดจังหวัดที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัด (ฉบับที่ 3) แบ่งออกเป็น 7 ภาค ได้แก่ ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคใต้ชายแดน ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และส่วนกลาง (กรุงเทพมหานคร) วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน T-test และ ANOVA การวิจัยเชิงคุณภาพเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์สอบถามแนวทางการดำเนินงานด้านการป้องกันอาชญากรรมภาคประชาชน สอบถามกับหน่วยงานที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับการป้องกันอาชญากรรมภาคประชาชน ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งทางตรงและทางสนับสนุน จำนวน 42 คน โดยจำแนกการสัมภาษณ์ตามพื้นที่เช่นเดียวกับการวิจัยเชิงปริมาณ และใช้วิธีการวิเคราะห์เชิงเนื้อหาในการอภิปรายผล


ผลการศึกษาพบว่าระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันอาชญากรรม 5 มาตรการ พบว่า มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลางทุกมาตรการ ซึ่งจาการหาความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะทั่วไปของประชาชนกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันอาชญากรรมพบว่าผลการเปรียบเทียบการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันอาชญากรรม 5 มาตรการ จำแนกตามลักษณะเพศ อายุ สถานภาพ อาชีพ รายได้ครัวเรือน จำนวนสมาชิกในครอบครัว การเคยหรือไม่เคยเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรม ลักษณะบริบทชุมชนที่อยู่อาศัย และการมีหรือไม่มีผู้นำ มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ในมาตรการที่ 3 การสนับสนุนส่งเสริมให้สมาชิกในชุมชนมีส่วนร่วมในการป้องกันอาชญากรรมชีวิตร่างกายและทรัพย์สินทั้งของตนเองและบุคคลอื่นให้ปลอดภัยจากภัยอาชญากรรม นอกนั้นมาตรการอื่นๆ ไม่แตกต่างกัน ผลการศึกษาระดับความเชื่อมั่นในความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนภายใต้มาตรการป้องกันอาชญากรรมที่มีประสิทธิภาพของประชาชน พบว่า มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลาง ผลการศึกษาระดับความพึงพอใจของประชาชนต่อระบบการป้องกันอาชญากรรมภายใต้มาตรการป้องกันอาชญากรรมที่มีประสิทธิภาพ พบว่า มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลาง ผลการศึกษาระดับความหวาดกลัวของประชาชนต่อภัยอาชญากรรมภายใต้มาตรการป้องกันอาชญากรรมที่มีประสิทธิภาพ พบว่า ประชาชนมีความหวาดกลัวต่อภัยอาชญากรรมค่าเฉลี่ยในระดับมาก จึงควรเร่งปลูกฝังจิตสำนึกความรับผิดชอบในสังคมร่วมกันให้กับเยาวชนตั้งแต่ในระดับวัยเรียน ปรับทัศนคติของประชาชนเกี่ยวกับอาชญากรรมว่าอาชญากรรมเป็นเรืองไกลตัว และเป็นเพียงหน้าที่ความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ ส่งเสริมให้ชุมชนมีโครงการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมเกี่ยวกับการป้องกันการอาชญากรรมโดยเฉพาะการให้ความรู้ในการป้องกันภัย หาแนวทางเพื่อส่งเสริมให้ผู้นำชุมชนมีส่วนในการกระตุ้นในประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมโครงการต่างๆ และให้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันอาชญากรรมเพิ่มมากขึ้นเป็นต้น

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์. (2531). อาชญากรรมพื้นฐานกับกระบวนการยุติธรรมปัญหาและอุปสรรคและแนวทางควบคุม. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจากัดการพิมพ์พระนคร.

ผู้จัดการออนไลน์. (2558). การมีส่วนร่วมของประชาชน. สืบค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2562, จาก https://mgronline.com/.

พรชัย ขันตี. (2553). ทฤษฎีอาชญาวิทยา: หลักการงานวิจัยและนโยบายประยุกต์. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนสุเนตรฟิล์ม

สำนักงานกิจการยุติธรรม. (2560). กรอบแนวทางการป้องกันอาชญากรรม 6 ด้าน ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2560. กรุงเทพฯ.

สิทธิศักดิ์ พันธุ์พิชญานนท์. (2550). สภาพปัญหาและวิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมของชุมชน อำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ (การศึกษาอิสระศิลปศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาการวิจัยและพัฒนาท้องถิ่น). มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่. เชียงใหม่.

อังคณา เมืองแสน. (2551). การมีส่วนร่วมในการป้องกันอาชญากรรมของชุมชนเมืองพัทยา (วิทยานิพนธ์รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต). คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา. ชลบุรี.