ทักษะการรู้เท่าทันสื่อใหม่และพฤติกรรมการใช้เฟซบุ๊กและไลน์ของนักศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

Main Article Content

เสาวนี ชินนาลอง
บุษบา สุธีธร
สุกานดา วรพันธุ์พงศ์

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษานักศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชในประเด็นดังนี้ 1. ระดับการรู้เท่าทันสื่อใหม่ 2. พฤติกรรมการใช้เฟซบุ๊กและไลน์ 3. ความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะประชากรกับระดับการรู้เท่าทันสื่อใหม่ 4. ความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะประชากรกับพฤติกรรมการใช้เฟซบุ๊กและไลน์  5. ความสัมพันธ์ระหว่างระดับการรู้เท่าทันสื่อกับพฤติกรรมการใช้เฟซบุ๊กและไลน์ และ 6. ความต้องการใช้สื่อใหม่เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนนิเทศศาสตร์ในระบบการศึกษาทางไกล งานวิจัยนี้ใช้วิธีการวิจัยแบบผสมวิธี ได้แก่ การวิจัยเชิงปริมาณ เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ ใช้การสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจงกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นนักศึกษาปริญญาตรีที่เข้าอบรมชุดวิชาประสบการณ์วิชาชีพนิเทศศาสตร์ซึ่งเป็นชุดวิชาสุดท้ายก่อนนักศึกษาจะสำเร็จการศึกษา รวมจำนวน 178 คน ส่วนการวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้การสัมภาษณ์กลุ่มนักศึกษาที่เข้าอบรมชุดวิชาประสบการณ์วิชาชีพนิเทศศาสตร์ จำนวน 24 คน    


ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีระดับการรู้เท่าทันสื่อใหม่ในระดับมาก โดยใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตในระดับมากที่สุด และระบุเหตุผลการใช้ว่าใช้เพื่อฆ่าเวลา เพื่อการทำงานหรือการเรียนในระดับมากที่สุด ส่วนสื่อออนไลน์ที่ใช้มากที่สุด ได้แก่ ไลน์ เฟซบุ๊กและยูทูป ในส่วนพฤติกรรมการใช้เฟซบุ๊กและไลน์ กลุ่มตัวอย่างใช้เครื่องมือต่างๆ ของเฟซบุ๊กได้หลากหลาย โดยเครื่องมือที่ใช้มากที่สุด ได้แก่ กดไลค์ โพสต์รูปและส่งข้อความส่วนตัว ส่วนเครื่องมือในไลน์ที่ใช้มากที่สุด ได้แก่ การแชท การส่งสติ๊กเกอร์และการเพิ่มเพื่อน  ในส่วนของระดับการรู้เท่าทันสื่อใหม่พบว่าไม่มีความสัมพันธ์กับลักษณะทางประชากร แต่พบว่าอายุมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการใช้เฟซบุ๊กทั้งด้านความถี่และระยะเวลาที่ใช้ แต่สำหรับพฤติกรรมการใช้ไลน์ทั้งด้านความถี่และระยะเวลาที่ใช้ไม่พบว่ามีความสัมพันธ์กับอายุของผู้ใช้ แต่กลับพบว่ามีความสัมพันธ์กับระดับรายได้ของผู้ใช้ นอกจากนั้นระดับการรู้เท่าทันสื่อมีความสัมพันธ์ทางบวกกับพฤติกรรมการใช้เฟซบุ๊กและไลน์ของกลุ่มตัวอย่าง ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างเห็นว่าทั้งเฟซบุ๊กและไลน์ตอบสนองความต้องการที่หลากหลายได้ และสาขาวิชานิเทศศาสตร์ควรใช้เฟซบุ๊กและไลน์เป็นสื่อในการจัดการเรียนการสอน ได้แก่ การมอบหมายกิจกรรมการทำรายงาน กิจกรรมการศึกษาด้วยตนเองและการให้คำแนะนำจากอาจารย์แก่นักศึกษาเพื่อการปรับปรุงกิจกรรม การแจ้งข้อมูลการสอนเสริม และข้อมูลกิจกรรมการฝึกอบรม เนื่องจากสื่อออนไลน์เข้าถึงตัวนักศึกษาได้รวดเร็ว เปิดดูซ้ำได้และติดต่อกลับได้โดยไม่จำกัดด้านเวลาในการเข้าถึง โดยนักศึกษาไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

นิธิดา วิวัฒน์พาณิชย์. (2558). การพัฒนาทักษะการรู้เท่าทันสื่อสังคมออนไลน์. วารสารบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏ วไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์, 9(3), 209-219.

บุบผา เมฆศรีทองคำ. (2554). การรู้เท่าทันสื่อ: การก้าวทันบนโลกข่าวสาร. วารสารนักบริหาร, 31(1), 117-123.

มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย. (2559). รู้เท่าทันสื่อ ICT. กรุงเทพฯ: ม.ป.พ.

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (2562). หลักสูตรการศึกษา สาขาวิชานิเทศศาสตร์ ปีการศึกษา 2562. นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์. (2558). ETDA เผยผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้เน็ตปี 58 เจาะผู้ใช้แยกตามเจนเนอเรชั่นแบบถึงกึ๋น. สืบค้นเมื่อ 20 ต.ค.2562, จาก https://www.etda.or.th/content/thailand-internet-user-profile-2015.html

Ahn, J. (2013). What Can We Learn from Facebook Activity? Using Social Learning Analytics to Observe New Media Literacy Skills. Proceedings of the Third International Conference on Learning Analytics and Knowledge (pp.135-144). Leuven Belgium.

Jenkins, H. & Purushotma, R. & Weigel, M. & Clinton, K. and Alice J. R. (2006). Confronting the Challenges of a Participatory Culture: Media Education for the 21th Century. The John D. and Catherine T. MacArthur Foundation. Retrieved from http://mitpress.mit.edu/books/full_pdfs/Confronting_the_Challenges.pdf

Literat, I. (2014). Measuring New Media Literacies: Towards the development of a comprehensive assessment Tool. Journal of Media Literacy Education, 6(1), 15-27.

Livingstone, S. & Helsper, E. (2007). Gradations in Digital Inclusion: Children, Young People and the Digital Divide. New media & society, 9(4), 671-696.