การพรากโดยการแสวงหาผลประโยชน์จากความไว้วางใจในการล่อลวง เพื่อการอนาจารเด็ก

Main Article Content

สิรินทิพย์ สมใจ

Abstract

การล่อลวงเพื่อการอนาจารเด็กเป็นกลวิธีอย่างหนึ่งของผู้กระทำความผิดทางเพศต่อเด็ก ซึ่งเป็นการสร้างสถานะความสัมพันธ์และการแสวงหาผลประโยชน์จากความไว้วางใจที่เกิดจากความสัมพันธ์นั้นในขั้นตระเตรียมการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กหรือขั้นล่วงละเมิดทางเพศหรือแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากเด็ก  การอยู่กับเด็กโดยลำพังเป็นสถานการณ์ที่ทำให้ผู้กระทำสามารถล่วงละเมิดทางเพศหรือแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากเด็กได้โดยไม่มีผู้อื่นพบเห็น  ผู้กระทำความผิดทางเพศต่อเด็กหลายรายจึงมักหาโอกาสเพื่อให้ตนเองได้อยู่กับเด็กโดยลำพังก่อนที่จะมีการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก  ในกรณีที่ผู้กระทำใช้การล่อลวงเพื่อการอนาจารเด็กก่อนที่จะมีการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก ความซับซ้อนของความสัมพันธ์ใกล้ชิดอันเกิดจากการล่อลวงเพื่อการอนาจารเด็ก วิธีการแสวงหาผลประโยชน์จากความไว้วางใจ และการใช้กลวิธีชักจูงเด็กโดยอาศัยความมีอิทธิพลเหนือ          การตัดสินใจของเด็กของผู้กระทำ ทำให้การสร้างสถานการณ์ที่ผู้กระทำอยู่กับเด็กโดยลำพังเกิดขึ้นหลากหลายรูปแบบ  การปรับใช้บทบัญญัติความผิดฐานพรากเด็กหรือพรากผู้เยาว์ มาตรา 317 ถึงมาตรา 319 จึงเป็นวิธีการหนึ่งที่ควรถูกนำใช้เพื่อลงโทษผู้กระทำและยับยั้งให้ไม่มีการสร้างสถานการณ์ในลักษณะดังกล่าวขึ้น แต่การตีความการกระทำที่การพรากของศาลไทยยังขาดความชัดเจน ทำให้ในกรณีที่ผู้กระทำไม่ได้มีการกระทำทางกายภาพอย่างชัดเจนอย่างการก่อ การสนับสนุนการเดินทางของเด็กหรือการสนทนากับเด็กในช่องทางสนทนาออนไลน์ ถูกวินิจฉัยว่าไม่เป็นการพรากเด็กหรือผู้เยาว์ในบางคดี ดังนั้น ผู้เขียนจึงมีข้อเสนอแนะให้ในกรณีที่ผู้กระทำอาศัยความสัมพันธ์หรือแสวงหาผลประโยชน์จากความไว้วางใจอันเกิดจากความสัมพันธ์ กระทำการใด ๆ อันทำให้ตนเองได้อยู่กับเด็กโดยลำพัง ไม่ว่าการกระทำนั้นจะเกิดการกระทำโดยตรง ก่อ หรือสนับสนุนให้เด็กเดินทางออกจากการปกครองดูแลของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเป็นการพรากเด็กหรือผู้เยาว์ และควรมีการกำหนดความรับผิดทางอาญาสำหรับกรณีการสนทนากับเด็กผ่านทางช่องทางออนไลน์ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากเด็กเป็นความผิดเกี่ยวกับการกระทำทางเพศตต่อเด็กอีกฐานความผิดหนึ่ง

Article Details

Section
Articles