สถานะทางกฎหมายของสภากาชาดไทย
Main Article Content
บทคัดย่อ
กิจการกาชาดเป็นกิจการที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายทั่วโลกและมีบทบาทในทางระหว่างประเทศ ในฐานะที่เป็นองค์กรที่ปฏิบัติภารกิจด้านมนุษยธรรม ปฏิบัติหน้าที่ทั้งในยามสงบและในยามสงคราม มีบทบาทในด้านการบรรเทาทุกข์ และมีบทบาทในกิจการสาธารณสุขในหลายประเทศ ภายใต้เครื่องหมายเดียวกันที่เป็นสากล คือ เครื่องหมายกาชาดสีแดงบนพื้นสีขาว หรือเป็นรูปเสี้ยววงเดือนแดง (สำหรับกลุ่มประเทศมุสลิม)
ในประเทศไทยก็มีการดำเนินการของกิจการกาชาดเช่นกัน ภายใต้ชื่อ “สภากาชาดไทย” โดยมีกฎหมายที่เกี่ยวกับสถานะ โครงสร้าง และอำนาจหน้าที่ของสภากาชาดไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนับได้ 3 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยสภากาชาดไทย พระพุทธศักราช 2461,พระราชบัญญัติว่าด้วยสภากาชาดสยามเพิ่มเติม พระพุทธศักราช 2463 และพระราชบัญญัติกาชาด พ.ศ. 2499
สำหรับสภากาชาดไทย นั้น มีจุดเริ่มต้นการดำเนินกิจการ รวมทั้งมีกฎหมายฉบับแรกที่บัญญัติขึ้นรับรองสถานะ มาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งในขณะนั้นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์และอำนาจรัฐยังนับได้ว่าเป็นสิ่งเดียวกัน ต่อมา เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งมีการจัดองค์กรในรูปแบบใหม่แล้ว ก็ยังคงมีความเกี่ยวพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วงแรก ก็ไม่ได้มีการแก้ไขกฎหมาย โครงสร้าง สถานะและความสัมพันธ์ของสภากาชาดไทยกับสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ยังคงเป็นเช่นเดิม หากแต่ในทางปฏิบัติมีการเปลี่ยนแปลงไป และทำให้ลักษณะในทางมหาชนเริ่มเด่นชัดขึ้น คือการที่พระมหากษัตริย์ทรงโปรดเกล้าแต่งตั้งบุคคลสภานายิกา และอุปนายกผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ที่มีรัฐมนตรีคนหนึ่งลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เสมือนหนึ่งว่าเป็นส่วนหนึ่ง
ในกิจการเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน
สถานะทางกฎหมายของสภากาชาดไทยยิ่งมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติ
ว่าด้วยสภากาชาดไทย พระพุทธศักราช 2461 เมื่อปี พ.ศ. 2550 คือการกำหนดลักษณะทางมหาชนให้แก่สภากาชาดไทย ทั้งในเรื่องสิทธิในทางทรัพย์สินไม่ตกอยู่ภายใต้ความรับผิดแห่งการบังคับคดี และการบังคับทางปกครอง รวมถึงการเป็นหน่วยงานที่สามารถของบประมาณจากรัฐบาลได้โดยตรงผ่านพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี
บทความฉบับนี้จึงมุ่งศึกษาเพื่อค้นหาสถานะที่แท้จริงของสภากาชาดไทยว่าจะมีสถานะใดในระบบกฎหมาย โดยพิจารณาเปรียบเทียบตามลักษณะความเปลี่ยนแปลงของกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามแต่ละช่วงเวลา และศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์เพื่อให้เข้าใจถึงพัฒนาการของสภากาชาดไทย และความเกี่ยวข้องกับบริบททางการเมือง และกฎหมายในแต่ละช่วงเวลา
Article Details
บทความหรือข้อความคิดเห็นใด ๆ ที่ปรากฏในวารสารบัณฑิตศึกษานิติศาสตร์เป็นวรรณกรรมของผู้เขียนโดยเฉพาะคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบรรณาธิการไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย
References
2. นิสิต ลีละวงศ์. ประวัติความเป็นมาของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์, 2524
3. พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิ์พินิต.งานของกาชาด.กรุงเทพฯ : ตีรณสาร, 2502
4. สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ. ตำนานสภากาชาดสยามตอนที่ 1-2 กรุงเทพฯ, 2510.
5. สำนักบริการสภากาชาดไทย. สภากาชาดไทย ฉบับเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ 5 รอบ. กรุงเทพฯ : สภากาชาดไทย, 2558.
6. สุภาวณีย์ อมรจิตสุวรรณ. หลักกฎหมายมหาชนทางเศรษฐกิจ. กรุงเทพฯ : วิญญูชน, 2560.
7. พัฒนไชย ไชยยันต์, “หลักมนุษยธรรมกับหลักปฏิบัติในประเทศไทย,” ในการสรุปผลการสัมมนา เรื่อง หลักมนุษยธรรมกับสภากาชาดไทย, จัดโดยสภากาชาดไทยโดยความร่วมมือคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร, 2533 : น. 15.
8. ภัคเดช คมสัน. “สถานะทางกฎหมายของแพทยสภาฝรั่งเศส.” วารสารวิชาการศาลปกครอง. เล่ม 2. ปีที่ 17 (2560) : น.75-95.
. “บทวิเคราะห์สถานะทางกฎหมายแพทยสภาไทย.” วารสารวิชาการศาลปกครอง. เล่ม 3. ปีที่ 17 (2560) : น.1-16.
9. ชโนบล พรหมสถิต, “การคุ้มครองบุคลากรและหน่วยทางการแพทย์ตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศในภาวะขัดกันทางกำลังทหารในระดับระหว่างประเทศ.” วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2552.
10. พัทธพล สุขจะ, “บทบาททางกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศในการให้ความคุ้มครองและช่วยเหลือผู้ตกเป็นเหยื่อของการขัดกันทางอาวุธ.” วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2556.
11. สุดา ปริวัติธรรม, “สภากาชาดไทยกำเนิดและพัฒนาการ (พ.ศ.2436 - 2485).” วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต คณะอักษรศาสตร จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, 2534.
12. Han Haug. Humanity for all. Berne : P.Haupt, 1993.