การปรับตัวเพื่อความมั่นคงของชุมชนเสี่ยงภัยแล้งในลุ่มน้ำชีตอนบน
Main Article Content
บทคัดย่อ
ถึงแม้ชุมชนจำนวนมากในลุ่มน้ำชีตอนบนได้ประสบภัยแล้งเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง แต่ชุมชนเหล่านั้นยังคงสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงตลอดมา ผู้วิจัยจึงมีคำถามว่า ชุมชนเหล่านั้นดำรงอยู่ได้อย่างไร ชุมชนเหล่านั้นปรับตัวเพื่อความมั่นคงได้อย่างไร ดังนั้น การวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการปรับตัวเพื่อความมั่นคงของชุมชนเสี่ยงภัยแล้งในลุ่มน้ำชีตอนบน เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้รู้ที่สำคัญจำนวน 50 คน ประกอบด้วย ผู้นำชุมชน ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ปราชญ์ชาวบ้าน คณะกรรมการชุมชน คณะกรรมการกลุ่ม คณะกรรมการเครือข่าย นายก อบต. และเกษตรกร โดยการสัมภาษณ์เชิงลึกทั้งระดับปัจเจกบุคคลและกลุ่ม ผลการศึกษาพบว่า ชุมชนมีการปรับตัวเพื่อความมั่นคงในแต่ละด้าน ดังนี้ 1) ด้านเศรษฐกิจ คือ การเปลี่ยนพันธ์พืชและวิธีการเพาะปลูก การแบ่งงานกันทำ การเปลี่ยนอาชีพ การเปลี่ยนเป้าหมายการผลิต การเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิต การจ้างเหมา การเปลี่ยนกันจ้างและการร่วมกลุ่มเอาแรงแต่จ่ายส่วนต่าง 2) ด้านสังคม ชุมชนปรับตัวผ่านกระบวนการสร้างจิตสำนึกร่วมกัน การสร้างกิจกรรมใหม่ การรื้อฟื้นกิจกรรมเก่า การเพิ่มช่องทางการสื่อสารและการกำหนดวันเวลาจัดกิจกรรมทางสังคมของชุมชนให้ตรงกับวันหยุดสากล 3) ด้านอาหาร คือ การขยายพื้นที่หาอาหาร การเลี้ยงสัตว์เป็นอาหารและการซื้ออาหารจากตลาด 4) ด้านทรัพยากรธรรมชาติ คือ การกำหนดพื้นที่การใช้ประโยชน์และการกำหนดกติกา