A การศึกษากระสวนทางการบรรเลงสะล้อของครูพรหเมศวร์ สรรพศรี (ครูภูมิปัญญาไทย)
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระสวนทางการบรรเลงสะล้อของครูพรหเมศวร์ สรรพศรี
(ครูภูมิปัญญาไทย) ใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลโดยการวิเคราะห์เอกสาร สัมภาษณ์ครูพรหเมศวร์
สรรพศรี และกลุ่มลูกศิษย์ที่ได้รับการถ่ายทอดโดยตรง วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) และนำเสนอผลการวิจัยเป็นความเรียง
ผลการวิจัยพบว่า กระสวนทางการบรรเลงสะล้อของครูพรหเมศวร์ สรรพศรี (ครูภูมิปัญญาไทย)
ในเพลงปราสาทไหว และ เพลงศรีเมืองเชียงราย มีความเรียบรื่น และ เรียบร้อย และทั้งสองเพลงมีลักษณะเด่น ดังนี้
1) มีการรักษาความเป็นแบบแผน ได้แก่ 1.1) แบบแผนการบรรเลง ครูยึดถือการบรรเลงสะล้อตามขนบเป็นหลัก และ
1.2) แบบแผนท่วงทำนอง ครูคำนึงถึงทำนองหลักเป็นสำคัญ ผูกกลอนให้สอดคล้องและถูกต้องตามหลักสังคีตลักษณ์
2) มีการรักษาความเป็นอัตลักษณ์ ได้แก่ 2.1) อัตลักษณ์ดนตรีพื้นบ้านล้านนากระสวนทางที่ครูสร้างสรรค์ขึ้นใหม่จะยังคงรักษาสำเนียงของเพลงพื้นบ้านล้านนาไว้ และ 2.2) อัตลักษณ์ผู้บรรเลง กระสวนทางของครูมีความโดดเด่นในด้านทำนองสำเนียงหวานซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของครู