จริยธรรมการตีพิมพ์
จริยธรรมของผู้เขียนบทความ (Authors)
- ผู้เขียนควรคำนึงว่าบทความของตนที่เขียนส่งมาระหว่างการพิจารณาตีพิมพ์นั้นจะต้องไม่เคยตีพิมพ์ซ้ำซ้อนในวารสารอื่น
- ผู้เขียนควรคำนึงและมีความรับผิดชอบในการอ้างอิงผลงานอันเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาบทความ เช่นรูปภาพ หรือตาราง หากมีการนำมาใช้ในบทความของตนเอง ควรระบุ “แหล่งที่มา” เพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ (หากมีกรณีการฟ้องร้องจะต้องเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว วารสารไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด)
- ผู้เขียนควรคำนึงและปฏิบัติตามเงื่อนไขและยอมรับเงื่อนไขที่วารสารกำหนด เช่นการขอให้ปรับแก้ไขบทความตามที่ผู้ประเมินบทความหรือกองบรรณาธิการแจ้งให้ทราบ และดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด การยอมรับการเลื่อนการตีพิมพ์เผยแพร่ออกไปหรือการที่บทความถูกถอดถอนออกจากการตีพิมพ์ในวารสารเพราะเหตุแห่งการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของวารสาร เป็นต้น
- ผู้เขียนต้องคำนึงถึงข้อเขียนที่ต้องอ้างอิงแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ ข้อเขียนควรเป็นไปเพื่อให้ความจริง การส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่บุคคลและสังคม และข้อเขียนจะต้องไม่ตกอยู่ภายใต้วจีทุจริต 4 คือ คำหยาบ คำส่อเสียด คำเพ้อเจ้อและคำเท็จ
- ผู้เขียนไม่สามารถนำบทความที่ถูกตีพิมพ์ในวารสารมมร วิชาการล้านนาแล้ว นำไปแก้ไข ดัดแปลง หรือแปลเป็นภาษาอื่น ไปนำเสนอเพื่อการตีพิมพ์ ในวารสารอื่น
- ผู้เขียนจะต้องคำนึงถึงจริยธรรมการวิจัยไม่ละเมิดหรือคัดลอกผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตนเองซึ่งทางวารสารได้กำหนดความซ้ำของผลงาน โปรแกรมด้วย CopyCatch ไม่เกินค่าที่วารสารกำหนด โดยมีผลตั้งแต่ เดือน กรกฎาคม 2562 เป็นตันไป
จริยธรรมของผู้ประเมินบทความ (Reviewers)
- ผู้ประเมินบทความควรคำนึงถึงจรรยาบรรณของผู้ประเมิน โดยรักษาความลับและไม่เปิดเผยข้อมูลของบทความที่ผู้เขียนส่งมาพิจารณาให้แก่บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ รวมถึงหลังจากที่พิจารณาประเมินบทความเสร็จแล้ว
- ผู้ประเมินบทความควรคำนึงถึงบทความที่ตนเองอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้เขียนที่อาจทำให้ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นหรือให้ข้อเสนอแนะอย่างเป็นอิสระได้ ควรแจ้งให้บรรณาธิการวารสารทราบและปฏิเสธการประเมินบทความนั้น ๆ
- ผู้ประเมินบทความควรคำนึงถึงความรู้ความสามารถที่ตอนเองมีอยู่ โดยประเมินบทความในสาขาวิชาที่ตนมีความเชี่ยวชาญ และรับพิจารณาประเมินบทความนั้น ๆ ให้มีคุณภาพและมีความเข้มข้นตามหลักวิชาการ
- ผู้ประเมินบทความควรคำนึงถึงการพิจารณาบทความทั้งในส่วนที่เป็นหัวข้อ เนื้อหา และรูปแบบที่เกี่ยวข้อง โดยให้ความเห็นที่เป็นหลักการและอยู่ภายใต้พรหมวิหารธรรมต่อเจ้าของผู้เขียนบทความนั้น ๆ
จริยธรรมของบรรณาธิการ (Journal Editors)
- บรรณาธิการมีหน้าที่พิจารณา กำกับ และควบคุมการตีพิมพ์บทความวิชาการ บทความวิจัย และบทวิจารณ์หนังสือเพื่อเผยแพร่ผลงานที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยคัดเลือกบทความที่ผ่านกระบวนการจากผู้ประเมินบทความแล้ว และบทความนั้น ๆ มีเนื้อหาความสอดคล้องกับนโยบายหรือวัตถุประสงค์ของวารสาร และใช้ความรู้ความสามารถวิเคราะห์ และสังเคราะห์ผลงานวิชาการที่ผ่านการเขียนของผู้เขียนมาตีพิมพ์เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ในวารสารผ่านระบบออนไลน์
- บรรณาธิการควรคำนึงถึงความยุติธรรมแก่ผู้เขียนโดยไม่เปิดเผยผลการประเมินบทความของผู้เขียนต่อสาธารณะ และควรคำนึงถึงข้อปฏิบัติการประเมินบทความแบบปกปิดรายชื่อ (Double-blind)
- บรรณาธิการควรคำนึงถึงผลกระทบในทางเสื่อมเสียในแง่ของผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างผู้เขียน และหรือผู้ประเมิน โดยการหลีกเลี่ยงการตีพิมพ์บทความที่อาจจะเข้าข่ายดังกล่าวข้างต้น ด้วยการตอบรับหรือปฏิเสธการตีพิมพ์บทความอย่างมีเหตุมีผล
- บรรณาธิการควรคำนึงและปฏิบัติตามประกาศศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI) ว่าด้วยเรื่องการประเมินด้านจริยธรรม/จรรยาบรรณวารสารวิชาการไทยในฐานข้อมูล TCI อย่างเคร่งครัด