ประสิทธิภาพการบริหารคณะสงฆ์ : กรณีศึกษาคณะสงฆ์อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี

Main Article Content

พระมหาเดชา สังขรุ่งเรือง

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิภาพการบริหารคณะสงฆ์ในอำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี และเพื่อศึกษาข้อเสนอแนะ ปัญหา อุปสรรค และแนวทางในการแก้ปัญหาในการบริหารคณะสงฆ์ทั้ง 6 ด้าน ในอำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยดำเนินการวิจัยตามวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ  โดยกลุ่มตัวอย่างประชากรที่ใช้ในการวิจัย เลือกจากตำแหน่งพระสังฆาธิการในเขตปกครอง โดยใช้วิธีสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Sampling) จำนวน 33 รูป จากทั้งหมดในเขตอำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้จากการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) คือ แบบสอบสัมภาษณ์เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล จากการศึกษาประสิทธิภาพการบริหารคณะสงฆ์ของพระสังฆาธิการในอำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี พบว่า พระสังฆาธิการมีประสิทธิภาพในการบริหารงานของคณะสงฆ์ในอำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี โดยรวมอยู่ในระดับดี เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า พระภิกษุและสามเณรมีทัศนะต่อประสิทธิภาพในการบริหารงานของพระสังฆาธิการในอำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี อยู่ในระดับดีทุกด้าน ด้านการปกครอง    พระสังฆาธิการได้ส่งเสริมพระภิกษุ และสามเณร ให้เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ ปฏิบัติตนอยู่ในกรอบของพระธรรมวินัย และสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีต่อการพัฒนาชุมชน การบริหารวัดในปัจจุบันได้เปลี่ยนรูปแบบ ระบบ วิธีการ การสร้างระบบให้เหมาะสมกับผู้อยู่อาศัยในวัดนั้น ๆ และสังคมโดยรอบ เพื่อให้การบริหารเป็นไปตามเป้าหมาย การปกครอง ดูแลรักษาหมู่คณะและการดำเนินงานการจัดการกิจกรรมต่าง ๆ หรือองค์กรต่าง ๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปตามนโยบาย และวัตถุประสงค์ขององค์กรนั้น ๆ ด้วยดี และมีประสิทธิภาพ ด้านการศึกษา ปัจจุบันพระสังฆาธิการส่วนใหญ่ ได้ให้ความสนใจในเรื่องของการศึกษาสำหรับพระภิกษุสามเณรและเยาวชนอย่างดีเยี่ยม ให้การสนับสนุนการดำเนินงานการศึกษาทั้งบาลีนักธรรมและสายพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา จากการส่งมาเรียนที่วัดไชยชุมพลชนะสงคราม   ซึ่งเป็นศูนย์รวมการศึกษาในจังหวัดกาญจนบุรี ด้านการศึกษาสงเคราะห์ พระสังฆาธิการมีความรู้ความสามารถในการดำเนินงานจัดการศึกษาเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูล (การช่วยเหลือการศึกษา) ให้ผู้ที่มีความสนใจได้เข้ามาศึกษาในสำนักเรียนวัดไชยชุมพลชนะสงคราม คณะพระสังฆาธิการส่วนใหญ่ได้มีการพัฒนาทำให้คณะสงฆ์ได้เป็นที่พึ่งทางใจ แก่ประชาชนได้อย่างดี เพราะปัจจุบันการศึกษาเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างมาก ดังนั้น การส่งเสริมให้มีการศึกษา เป็นการสงเคราะห์พระภิกษุและสามเณรตลอดถึงประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ ด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา พระสังฆาธิการในกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดนั้นก็ได้มีการส่งเสริมการเรียนการสอนให้เข้ามาในวัดเพื่อที่จะได้ให้เยาวชนจะได้เข้ามาสัมผัสกับบรรยากาศที่เป็นจริงและจัดให้มีการปฏิบัติธรรมเสริมสร้างกิจกรรมที่ทำให้ไม่เบื่อหน่าย ส่งเสริมการเรียนรู้ คู่คุณธรรมเป็นขั้นพื้นฐานเพื่อสอนเยาวชนให้เป็นคนดี นำความรู้ที่ได้รับจากการเผยแผ่ไปปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวันได้ ด้านสาธารณูปการ พระสังฆาธิการในแต่ละวัดมีความสามัคคีกันช่วยกันสอดส่องดูแล อาคารเสนาสนะต่างๆ ให้อยู่ในสภาพที่เรียบร้อยดูดีและช่วยกันซ่อมแซมหากว่าอาคารที่นั้นชำรุดขึ้นมาเพื่อให้มีสภาพที่เหมือนเดิมเป็นที่น่าศรัทธาของประชาชนที่พบเห็น ด้านสาธารณสงเคราะห์ พระสังฆาธิการส่วนใหญ่ได้หางบประมาณสำหรับการสงเคราะห์ให้การทำงานทุกอย่างเป็นไปอย่างดีและมีประสิทธิภาพ ประกอบกับผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการทำงานอย่างเพียงพอ     ต่อความต้องการของคณะสงฆ์ สิ่งสำคัญก็คือมีจิตใจที่เป็นสาธารณะด้วย สามารถดำเนินงานด้านนี้ได้อย่างดีและมีประสิทธิภาพ ผลการศึกษาปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับประสิทธิภาพการบริหารคณะสงฆ์ในอำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี  พบว่า ปัญหาที่สำคัญได้แก่ พระสังฆาธิการระดับเจ้าอาวาสบางรูปยังขาดวิสัยทัศน์ ขาดเป้าหมาย ในการบริหารจัดการวัดที่ชัดเจน การบริหารจัดการของเจ้าอาวาสบางส่วนไม่มีการประชุมเพื่อปรึกษา วางแผน และกำหนดวัตถุประสงค์ในการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม เป็นการบริหารจัดการตามความเคยชินที่เคยปฏิบัติมา ขาดการประสานงานระหว่าง วัด บ้าน และชุมชน และเจ้าอาวาสบางรูปใช้คนไม่ถูกกับงาน จึงทำให้งานขาดประสิทธิภาพ  แนวทางในการแก้ไขปัญหา ได้แก่ ควรมีการประชุมพระสังฆาธิการระดับเจ้าอาวาสขึ้นไป เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารคณะสงฆ์ ในอำเภอเมืองกาญจนบุรี และเพื่อให้เกิดความสามัคคีภายในเขตการปกครอง ดูแล ส่งเสริมให้พระสังฆาธิการเปิดรับความรู้ใหม่ ๆ เพื่อนำมาใช้ในการบริหารจัดการ มีการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการพัฒนาคณะสงฆ์ และควรมีการจัดกิจกรรมที่สร้างสรรค์ระหว่างวัดกับชุมชนอย่างต่อเนื่อง   

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

1 บุญศรี พานะจิตต์, “ความสำเร็จในการปฏิบัติภารกิจของวัด”, กรุงเทพฯ, บริษัทพริกหวานกราฟฟิก, 2545, หน้า. 21.
2 พระครูปลัดอาทิตย์ อตฺถเวที (ซองดี), “การศึกษาแนวคิดและวิธีการปกครองคณะสงฆ์ของพระเทพโสภณ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต): ศึกษาเฉพาะกรณีพระสังฆาธิการในเขตปกครองภาค 2”, วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2546, หน้า. 86.
3 พระธวัชชัย จารุธมฺโม (ศรีสุข), “ประสิทธิภาพการบริหารกิจการคณะสงฆ์: กรณีศึกษา วัดในอำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี”, วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2553, หน้า. 36.
4 พระยุทธนา รมณียธมฺโม (แก้วกันหา), “การศึกษาเชิงวิเคราะห์การจัดองค์กรคณะสงฆ์ในสมัยพุทธกาล”, วิทยานิพนธ์พุทธศาสตรมหาบัณฑิต, บัณฑิตวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ ราชวิทยาลัย, 2553, หน้า. 101.