คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา : ศึกษาเฉพาะกรณีการให้ความช่วยเหลือทางด้านทนายความ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/2 วรรคสอง

Main Article Content

ขวัญดาว แก้วแฮด

บทคัดย่อ

การศึกษาค้นคว้าอิสระนี้ มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อศึกษาบทบาทของทนายความกับการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนของประเทศไทยและต่างประเทศ และ (2) เพื่อศึกษาวิเคราะห์ถึงสภาพปัญหาและอุปสรรคทางด้านทนายความกับการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนของประเทศไทย การค้นคว้าอิสระฉบับนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยวิธีวิจัยเอกสารจากตำรา หนังสือ และตัวบทกฎหมายของไทยและต่างประเทศ บทความ วิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ รายงานการวิจัย วารสารเอกสารต่างๆ คำพิพากษาของศาลทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ รวมทั้งข้อมูลจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์และหน่วยงานของรัฐที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน


ผลการศึกษา พบว่า (1) ในระดับสากลนั้นให้ความสำคัญเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิของเหยื่ออาชญากรรมหรือผู้เสียหายในคดีอาญาโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคกันทางด้านกฎหมาย แม้ว่าในประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาจะไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ผู้เสียหายได้รับความช่วยเหลือทางด้านทนายความเกี่ยวกับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนไว้โดยตรง แต่จะมีหน่วยงานเอกชนหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายเกี่ยวกับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ สำหรับประเทศไทยนั้น แม้ว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจะบัญญัติเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายทางด้านทนายความไว้ในมาตรา 44/2  แต่ก็เป็นการให้ความช่วยเหลือในขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการแล้ว  และ (2) การแต่งตั้งทนายความจากศาลเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้เสียหาย ตามมาตรา 44/2 วรรคสอง ถูกกำหนดเงื่อนไขให้ผู้เสียหายต้องยื่นคำร้องเพื่อขอบังคับจำเลย เพื่อชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 44/1 เสียก่อน จึงทำให้เกิดภาระ ยุ่งยากต่อผู้เสียหายได้ เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญามีความสลับซับซ้อน การดำเนินการต่างๆ จะต้องมีลำดับขั้นตอน จึงทำให้การขอให้ศาลบังคับจำเลยเพื่อชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจึงเป็นเรื่องยาก เพื่อให้ผู้เสียหายได้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมโดยง่าย สะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม จึงขอเสนอแนะให้ยกเลิกประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/2 วรรคสอง และให้เพิ่มเติมข้อความต่อไปนี้ในมาตรา 44/1 วรรคสี่   ถ้าความปรากฏต่อศาลว่าผู้เสียหายตามวรรคแรก เป็นคนยากจนไม่สามารถจัดหาทนายความได้เองให้ศาลมีอำนาจ          ตั้งทนายความให้แก่ผู้นั้น โดยทนายความที่ได้รับแต่งตั้งมีสิทธิได้รับเงินรางวัล และค่าใช้จ่ายตามระเบียบที่ คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกำหนด


 

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

อรอุมา สามัญทอง. (2553). สิทธิเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางอาญา: ศึกษาสิทธิของผู้เสียหายในการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา. วิทยานิพนธ์ปริญญานิติศาสตร์มหาบัณฑิต. มหาวิทยาลัยรามคำแหง, กรุงเทพฯ.

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. (ม.ป.ป.). การปฏิรูประบบการคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำความผิดทางอาญา(เหยื่อหรือผู้เสียหาย. (รายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ)

ณภัทร สรอัฑฒ์ และคณะ. (2558). โครงการศึกษาแนวทางการจ่ายเงินค่าตอบแทนการให้ความช่วยเหลือแก่เหยื่อในคดีอาญา: กรณีการให้ความช่วยเหลือเหยื่อในคดีอาญาของญี่ปุ่น. (โครงการวิจัยคณะนิติศาสตร์). มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, กรุงเทพฯ.

วีระศักดิ์ แสงสารพันธ์. (2544). ผู้เสียหายในคดีอาญา:การศึกษาสิทธิและการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทย. วิทยานิพนธ์ปริญญานิติศาสตร์มหาบัณฑิต. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, กรุงเทพฯ.