การสำรวจความเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมและโบราณสถาน “ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา” ของ น. ณ ปากน้ำ: “ทุ่งแก้ว” พระนครศรีอยุธยา

Main Article Content

ศุภกาณฑ์ นานรัมย์

บทคัดย่อ

การศึกษาวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม สภาพโบราณสถาน “ทุ่งแก้ว” พระนครศรีอยุธยา ผ่านหนังสือ “ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา” ของ น. ณ ปากน้ำ ระหว่าง พ.ศ. 2509-2510 และแนวโน้มสิ่งแวดล้อมและโบราณสถาน “ทุ่งแก้ว” พระนครศรีอยุธยา ผลการวิจัยพบว่า “ทุ่งแก้ว” เป็นชุมชนเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ทางด้านเหนือของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา มีราษฎรเข้ามาตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น เป็นแหล่งผลิตสินค้ามีวัดวาอารามจำนวนมาก การสำรวจโบราณสถานของ น. ณ ปากน้ำ กลายเป็นประจักษ์พยานของความเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมและสภาพโบราณสถาน กล่าวคือ การสำรวจโบราณสถาน 17 แห่ง ได้แก่ วัดกลาง วัดเสลี่ยง วัดขวิด วัดเจ้าย่า วัดป่าแตง วัดใหม่ วัดกุฎีทอง วัดโพธิ์ วัดวงษ์ฆ้อง วัดนมด้วน วัดอินทาราม วัดวิหารทอง วัดแม่นางปลื้ม วัดพร้าว วัดกาหลิบ วัดครุฑ และวัดท่าแค พบว่า ชาวบ้านเข้าไปตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายตามแนวคลอง สำหรับโบราณสถานที่ เป็นวัดร้างจะเต็มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ขึ้นหนาทึบ แนวคลองตื้นเขินสัญจรไม่ได้ ถึงกระนั้น ส่วนวัดที่มีพระจำพรรษาดูสะอาดตา แต่การบูรณปฏิสังขรณ์โดยวัดอาจส่งผลต่อคุณค่าของโบราณสถานแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทั้งนี้ ผู้วิจัยได้สำรวจโบราณสถานทั้ง 17 แห่ง พบว่า โบราณสถานที่ได้รับการบูรณะแล้ว 14 แห่ง ได้แก่ วัดกลาง วัดเสลี่ยง วัดขวิด วัดเจ้าย่า วัดป่าแตง วัดใหม่ วัดกุฎีทอง วัดโพธิ์ วัดวงษ์ฆ้อง วัดอินทาราม วัดวิหารทอง วัดแม่นางปลื้ม วัดครุฑ และวัดท่าแค ในจำนวนนี้เป็นวัดที่มีพระจำพรรษา 6 แห่ง ได้แก่ วัดกลาง วัดกุฎีทอง วัดวงษ์ฆ้อง วัดอินทาราม วัดแม่นางปลื้มและวัดครุฑ ส่วนโบราณสถานที่ไม่ปรากฎร่องรอยแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ วัดกาหลิบ วัดนมด้วน และ วัดพร้าว อย่างไรก็ตาม แนวโน้มสิ่งแวดล้อมและโบราณสถาน “ทุ่งแก้ว” จะทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ทั้งจากฝีมือของธรรมชาติและฝีมือของมนุษย์ ทว่าปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดความเสื่อมโทรมอย่างต่อเนื่องเป็นผลจากภาวะน้ำท่วมที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี กอปรกับความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงได้เร่งความเสียหายแก่โบราณสถาน

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

ที่รฦกเนื่องในการพระราชทานเพลิงศพ นายประยูร อุลุชาฎะ ศิลปินแห่งชาติ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม กรุงเทพฯ 9 พฤษภาคม 2544. (2544). (ม.ป.ท.)

น. ณ ปากน้ำ. (2558). ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา. (พิมพ์ครั้งที่ 4). เมืองโบราณ.

ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง. (2553). แสงดาว.

ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 1. (2542). กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.

มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์. (2539). ประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา: เนื่องในมหามงคล วารกาญจนาภิเษก พุทธศักราช 2539. พร้อมมิตรการพิมพ์.

มงเซเญอร์ ปาลเลกัวซ์. (2549). เล่าเรื่องกรุงสยาม. (สันต์ ท. โกมลบุตร, ผู้แปล). ศรีปัญญา.

เรื่องกรุงเก่า. (พิมพ์ครั้งที่ 2). (2561). กรมศิลปากร.

สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2561). อยุธยามาจากไหน?. เรือนแก้วการพิมพ์.

สัมฤทธิ์ เจียมเจริญพรกุล. (2554). บันทึกภาพมหาอุทกภัย 2554. (ม.ป.ท.)