การบริหารจัดการย่านเก่าและรูปแบบสถาปัตยกรรมเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม: กรณีศึกษา อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย และอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม
Main Article Content
บทคัดย่อ
การท่องเที่ยวย่านเก่าช่วยให้เกิดการพัฒนาท้องถิ่น ชุมชนจึงต้องมีส่วนร่วมในการนำเอาสิ่งที่ตนมีอยู่มาใช้เป็นจุดขายเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว เช่น ศิลปะพื้นบ้าน ขนบธรรมเนียมประเพณี ภูมิหลังของท้องถิ่น สถาปัตยกรรม หรือแม้กระทั่งสภาพทางภูมิศาสตร์ของท้องถิ่น สิ่งสำคัญในการพัฒนาท่องเที่ยวย่านเก่า คือ รูปแบบการบริหารจัดการที่เหมาะสม การสร้างความพร้อม และเส้นทางการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วม วิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ คือ (1) เพื่อเสนอรูปแบบการบริหารจัดการย่านเก่าสู่การเป็นแหล่งทองเที่ยวทางวัฒนธรรม อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย และอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม โดยชุมชนมีส่วนร่วม และ (2) เพื่อเสนอพื้นที่และรูปแบบการนำสถาปัตยกรรมมาเพื่อการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมอำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย และอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม โดยอาศัยวิธีวิจัยแบบผสมผสาน (Mix Method Research) ผ่านการวิเคราะห์โดยการจำแนกชนิดข้อมูล (Typological Analysis) และการวิเคราะห์ส่วนประกอบ (Component Analysis) และสังเคราะห์ไปสู่การสรุปข้อเสนอเชิงนโยบาย (Policy Recommendation) ตามวัตถุประสงค์ ผลการวิจัยสรุปได้ คือ รูปแบบการบริหารจัดการย่านเก่าสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย และอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม โดยชุมชนมีส่วนร่วม ได้แก่ (1) ย่านเก่าท่าบ่อ ใช้แนวคิดผ่านเรื่องราวของเส้นทางเกลือสินเธาว์ ที่เป็นวิถีอาชีพดั้งเดิมของอำเภอท่าบ่อ (2) ย่านเก่าท่าอุเทน ใช้แนวคิดการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เช่น สถานที่สำคัญ (พระธาตุ) พื้นที่วิถีวัฒนธรรมชุมชน (ไทญ้อ) โดยทั้งย่านเก่าท่าบ่อและย่านเก่าท่าอุเทน ต้องอาศัยการพัฒนาในมิติต่างๆ เพื่อสร้างความพร้อมให้กับรูปแบบการท่องเที่ยวย่านเก่า ได้แก่ สิ่งดึงดูดใจ (Attraction) กิจกรรม (Activities) การเข้าถึง (Access) สิ่งอำนวยความสะดวก (Amenities) และ ที่พัก (Accommodation) สำหรับข้อเสนอพื้นที่และรูปแบบการนำสถาปัตยกรรมมาเพื่อการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ได้แก่ (1) ย่านเก่าท่าบ่อ กำหนดให้พื้นที่บริเวณสี่แยกถนนผดุงสามัคคีถนนพาณิชย์บำรุง และ (2) ย่านเก่าท่าอุเทนกำหนดให้พื้นที่บริเวณสี่แยกถนนศรีมืองและถนนริมโขง เนื่องจากพื้นที่ทั้ง 2 แห่ง มีกลุ่มอาคารแถวเก่าที่มีลักษณะโดดเด่นทางสถาปัตยกรรมหลงเหลืออยู่เป็นจำนวนมากและมีความต่อเนื่องเพื่อใช้เป็นพื้นที่ สามารถนำแนวทางการอนุรักษ์ของกรมศิลปากรมาใช้อนุรักษ์ฟื้นฟู และปรับปรุงอาคาร และใช้เป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวย่านเก่า รวมถึงจัดกิจกรรมถนนคนเดินและถนนวัฒนธรรม จำหน่ายสินค้าและอาหารพื้นถิ่น รวมถึงสินค้าอื่นๆ บริเวณพื้นที่หน้าอาคาร พร้อมทั้งการจัดกิจกรรมการแสดงของเยาวชนรวมถึงกิจกรรมการแสดงของชุมชนด้านวัฒนธรรม ซึ่งข้อเสนอเพิ่มเติมเพื่อดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวย่านเก่าให้เป็นรูปธรรม คือ(1) การประชาสัมพันธ์กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในย่านเก่าหรือบริเวณชุมชน (2) การให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวและนําเที่ยวชมย่านเก่า ผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชน (3) สนับสนุนแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชน และ (4) ต้องให้ความสำคัญกับคุณค่าของย่านเก่า รูปแบบสถาปัตยกรรม และคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เพื่อสร้างแนวทางอนุรักษ์ย่าน กลุ่มอาคาร และรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ยั่งยืนต่อไป
Article Details
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
อยู่ระหว่างการปรับปรุง (ลิขสิทธิ์และการรับผิดชอบ)
References
กรมการท่องเที่ยว. สำนักพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว. (2561). แผนบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมท่องเที่ยว.
ปรานอม ตันสุขานันท์. (2559). การอนุรักษ์ชุมชนเมือง. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ระวิวรรณ โอฬารรัตน์มณี. (2552). สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น: การศึกษา วิจัย และการปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม.วารสารวิชาการคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, 9(1), 56-66.
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2556). โครงการจัดทำมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม ประเภทย่านชุมชนเก่า ในพื้นที่ภาคตะวันออก.
Eber, S. (1993). Beyond the green horizon: Principles for sustainable tourism. WWF UK.
Swarbrooke, J. (1999). Sustainable tourism management. CABI.