การสร้างต้นแบบประติมากรรมร่วมสมัย วิกฤต “ช่างทำหม้อดินเผา” : ภูมิปัญญากรุงเก่าชาวคลองสระบัว”

Main Article Content

วัชรีวรรณ หิรัญพลาวัสถ์

บทคัดย่อ

การสร้างต้นแบบประติมากรรมร่วมสมัยภายใต้แนวคิดวิกฤต“ช่างทำหม้อดินเผา”ภูมิปัญญากรุงเก่าชาวคลองสระบัวในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคกรรมวิธีการทำหม้อดินเผาจากช่างทำหม้อดินเผาที่ยังคงประกอบอาชีพนี้อยู่อีกทั้งเพื่ออนุรักษ์และถ่ายทอดภูมิปัญญาการทำหม้อดินเผาของชุมชนคลองสระบัวให้กับนักศึกษาและผู้สนใจรุ่นหลังได้ใช้เป็นแนวทางศึกษา ตลอดจนเพื่อสะท้อนแนวคิดและความประทับใจในการพยายามสู้ชีวิตของครูนงค์นุช เจริญพรหรือพี่ยอ “ช่างทำหม้อดินเผา” จากชุมชนคลองสระบัว โดยนำแนวคิดและความประทับใจนี้ไปเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบและสร้างต้นแบบประติมากรรมร่วมสมัยในโครงการ


สำหรับรูปแบบของการศึกษาและรวบรวมองค์ความรู้คือ การลงพื้นที่เพื่อการสอบถามและสัมภาษณ์ “ช่างทำหม้อดินเผา” ในชุมชนคลองสระบัวและบริเวณใกล้เคียงที่เคยประกอบอาชีพนี้มาก่อนสำหรับจุดเด่นของเทคนิคกรรมวิธีการสร้างต้นแบบประติมากรรมร่วมสมัยในครั้งนี้ คือ การใช้วัตถุดิบหลักเป็นดินเหนียวจากชุมชนตำบลสวนพริก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้แก่ ดินแก้วแกลบและดินขลุยปู ซึ่งเป็นดินเหนียวพื้นบ้านดั้งเดิมที่ช่างทำหม้อในอดีตนิยมนำมาใช้ในการขึ้นรูปดินและทาผิวหม้อดิน นอกจากนี้จะใช้ทรายละเอียดเป็นส่วนผสมเพิ่มเติมในเนื้อดินอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อเสริมความแข็งแรงของโครงสร้างชิ้นงาน อีกทั้งใช้เทคนิควิธีการขึ้นรูปดินด้วยมือ อาทิ วิธีการกดบีบ (Pinching) และวิธีแป้นหมุน (Wheel Throwing) ตลอดจนตกแต่งรูปทรงชิ้นงานดินด้วยวิธีการตัดเจาะและการขูด การใช้ก้อนดินเผาหรือก้อนซีเมนต์ขัดผิวและการใช้ไม้ลายตีเพื่อปรับรูปทรง นอกจากนี้มีการขัดผิวชิ้นงานให้เรียบมันด้วยการใช้หินกรวดแม่น้ำ เพื่อเพิ่มความแข็งแรง เป็นต้น


การสร้างต้นแบบประติมากรรมร่วมสมัยในครั้งนี้ ได้แนวคิดและแรงบันดาลใจในการออกแบบและสร้างต้นแบบมาจากความเพียรพยายามและกำลังใจในการสู้ชีวิตของพี่ยอ ซึ่งผู้ศึกษาต้องการที่จะเป็นสื่อกลางในการแสดงออกและสะท้อนคิดถึงความรู้สึกภายในจิตใจของพี่ยอโดยถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานศิลปะและส่งต่อความรู้สึกประทับใจนี้ผ่านผลงานต้นแบบประติมากรรมขนาดเล็ก จำนวนทั้งสิ้น 2 ชิ้นงาน ซึ่งผู้ศึกษาหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการสร้างต้นแบบประติมากรรมร่วมสมัยในครั้งนี้ จะสามารถต่อยอดผลงานศิลปะของผู้ศึกษา อีกทั้งใช้เป็นแนวทางให้กับนักศึกษาและผู้สนใจรุ่นหลัง ตลอดจนเกิดประโยชน์ทางด้านสุนทรียะแก่ผู้พบเห็นผลงานไม่มากก็น้อย

Article Details

บท
บทความวิชาการ

References

ประเสริฐ พิชยะสุนทร. (2555). ศิลปะและการออกแบบเบื้องต้น. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ประเสริฐ วรรณรัตน์. (2562). ประวัติศาสตร์ประติมากรรม. บริษัทเลิศหล้าเพรสจำกัด.

วิศิษฏ์ เพียรการค้า. (2561). การออกแบบผลิตภัณฑ์. สำนักพิมพ์ PROTEXTS.COM บริษัทแดแน็กซ์ อินเตอร์คอร์ปอเรชั่น จำกัด.2561.

สุขกมล วงษ์สวรรค์. (2542). เอกสารประกอบวิชา การศึกษาชั้นสูงเกี่ยวกับเทคโนโลยีสมัยโบราณคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรเรื่อง “หม้อดินเผาคลองสระบัว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา”(อัดสำเนา).

สุขุมาล เล็กสวัสดิ์. (2548). เครื่องปั้นดินเผา พื้นฐานการออกแบบและปฏิบัติงาน. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

นงค์นุช เจริญพร, (2567, 11, 18, 25 มิถุนายน), ครูภูมิปัญญาท้องถิ่น โรงเรียนวัดกลางคลองสระบัว