บทแนะนำหนังสือดีที่น่าอ่าน เรื่อง A History of Digital Media An Intermedia and Global Perspective
บทคัดย่อ
ชื่อเรื่อง A History of Digital Media : An Intermedia and Global Perspective หนังสือเล่มนี้แต่งโดย Gabriele Balbi, ศาสตราจารย์ด้านการสื่อสารแห่งมหาวิทยาลัย Università della Svizzera italiana ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และ Paolo Magaudda รองศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Padova ประเทศอิตาลี โครงสร้างของหนังสือ ประกอบด้วย คำนำ ประวัติของผู้เขียน สารบัญ สารบัญภาพ สารบัญตาราง สารบัญกรอบเนื้อหาพิเศษ (List of Boxes) กิตติกรรมประกาศ ตามด้วยเนื้อหาที่สำคัญจำนวน 6 บท ได้แก่ (1) บทนำ (2) เหตุใดจึงควรศึกษาประวัติศาสตร์ของสื่อดิจิทัลและควรศึกษาอย่างไร (3) คอมพิวเตอร์ : ในฐานะสื่อดิจิทัล (4) อินเทอร์เน็ต : ในฐานะสื่อดิจิทัล (5) โทรศัพท์มือถือ : ในฐานะสื่อดิจิทัล (6) การเปลี่ยนแปลงของสื่อแอนะล็อกไปเป็นสื่อดิจิทัล และ (7) บทสรุปของตำนานและเรื่องเล่าเกี่ยวกับการโต้ตอบต่อการครองอำนาจนำ (Counter-hegemonic) ในประวัติศาสตร์สื่อดิจิทัล จากนั้นจึงเป็นกาลานุกรม หรือ วิทยาการลำดับเวลา (Chronology) ภาคผนวก (Appendix) รายการคำย่อ (Acronyms) รายการอ้างอิง (References) และดัชนี (Index) ตามลำดับ โดยแต่ละบทจะมีเนื้อหาโดยสังเขป ดังนี้
ในบทนำ (Introduction) ซึ่งถือเป็นบทแรกของตำราเล่มนี้ โดย Balbi และ Magaudda ให้ภาพรวมของสื่อดิจิทัลจากการตีความสื่อดิจิทัลในเชิงประวัติศาสตร์ โดยผู้เขียนได้เริ่มให้คำนิยามของสื่อดิจิทัล จากนั้นจึงวิเคราะห์แนวโน้มที่สำคัญของการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นดิจิทัล ผู้เขียนยังได้นำเสนอกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นดิจิทัลของชิ้นงานต่าง ๆ ได้แก่ ดนตรี หนังสือ ข่าว ภาพยนตร์ วิดีโอ การถ่ายภาพ วิทยุ และโทรทัศน์
ในบทที่ 1 ผู้เขียนใช้ชื่อบทว่า “Why Study the History of Digital Media and How?” โดยเขียนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงไปเป็นดิจิทัลซึ่งมีอิทธิพลต่อมโนทัศน์ของคนในสังคม โดยเริ่มตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 ซึ่งสื่อดิจิทัลกลายเป็นหนึ่งสิ่งที่น่าหลงใหลที่สุดของมนุษยชาติ ไม่ว่าจะเป็นการออนไลน์ การโพสต์ การกดปุ่มชื่นชอบบนเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดีย การแลกเปลี่ยนอีเมล และการรับส่งข้อความผ่านสื่อดิจิทัล
ในบทที่ 2 ผู้เขียนใช้ชื่อบทว่า “The Computer” ซึ่งเนื้อหาภายในได้กล่าวถึงบทบาทของคอมพิวเตอร์ในฐานะที่เป็น "แม่" ของสื่อดิจิทัล โดยแบ่งช่วงเวลาออกเป็น 3 ยุคสมัย เริ่มจากยุคแมนเฟรมคอมพิวเตอร์ (The Mainframe Age) ซึ่งเป็นยุคที่คอมพิวเตอร์เป็นเพียงอุปกรณ์คำนวณและมีไว้ใช้ทำงานที่ซับซ้อนแทนมนุษย์ ต่อมาเป็นยุคคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (The Personal Computer Age) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่คนทั่วไปนำคอมพิวเตอร์มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน แล้วจึงเชื่อมโยงกันจนกลายเป็นอินเทอร์เน็ต ต่อจากนั้นในปี 2012 ยอดขายคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลทั่วโลกลดลงจาก 351 ล้านเครื่อง เป็น 269 ล้านเครื่อง โดยผู้เขียนอธิบายว่าช่วงเวลาดังกล่าวว่าเป็นยุคหลังคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (Post-PC Age)
ในบทที่ 3 ผู้เขียนใช้ชื่อบทว่า “The Internet” ซึ่งเนื้อหาภายในได้กล่าวถึงบทบาทของอินเทอร์เน็ตในฐานะที่เป็นสื่อดิจิทัล โดยผู้เขียนได้เริ่มอภิปรายถึงประวัติความเป็นมาของอินเทอร์เน็ตซึ่งเริ่มต้นขึ้นในทศวรรษที่ 1950 ในยุคสงครามเย็น และในทศวรรษที่ 1960 เกิดการพัฒนาเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่มาจากบริบททางการเมืองและการทหาร หลังจากนั้นคอมพิวเตอร์จึงสร้างอิทธิพลต่อมนุษยชาติในแง่มุมต่าง ๆ ได้แก่ แง่มุมทางวิชาการ แง่มุมบริการจากภาครัฐ แง่มุมพาณิชยศาสตร์ แง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรม
ในบทที่ 4 ผู้เขียนใช้ชื่อบทว่า “The Mobile Phone” ซึ่งเนื้อหาภายในได้กล่าวถึงปรากฏการณ์ที่คน "ธรรมดา" เริ่มมีโทรศัพท์มือถือซึ่งพัฒนาขึ้นภายใต้เทคโนโลยีเครื่องกลไฟฟ้า ต่อมาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ได้เกิดการใช้โทรศัพท์บ้านและโทรศัพท์บ้านแบบไร้สาย หลังจากนั้นในทศวรรษที่ 1990 โทรศัพท์มือถือกลับมาได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนทิ้งห่างจากโทรศัพท์บ้าน และกลายเป็นตัวบ่งชี้ที่ดีที่สุดของประสิทธิภาพการสื่อสารโทรศัพท์มือถือ จากนั้นจึงเกิดเทคโนโลยีการส่งข้อความด้วย SMS และเทคโนโลยี 3G ที่เป็นปัจจัยอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของมนุษยชาติ
ในบทที่ 5 ผู้เขียนใช้ชื่อบทว่า “The Digitization of Analog Media” ซึ่งเนื้อหาภายในได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงไปเป็นดิจิทัลของอุตสาหกรรมสื่อในวงการต่างๆ อาทิ วงการดนตรี วงการภาพยนตร์ วงการถ่ายภาพ และวงการวิทยุ-โทรทัศน์ ผู้อ่านสามารถเข้าใจปรากฏการณ์ของเทคโนโลยีดิจิทัลที่ส่งผลกระทบต่อสื่อแอนะล็อก และเห็นถึงแนวปฏิบัติที่ดีของอุตสาหกรรมสื่อในวงการต่าง ๆ ในการเปลี่ยนแปลงไปเป็นดิจิทัล
ในบทสรุปผู้เขียนใช้ชื่อบทว่า “Conclusion : Myths and Counter-hegemonic Narratives in Digital Media History” ซึ่งเนื้อหาภายในได้กล่าวถึง แนวคิดสำคัญในบทก่อนๆ ของหนังสือเล่มนี้ ซึ่งสะท้อนมุมมองทางทฤษฎีที่หลากหลายเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ของการเปลี่ยนแปลงไปเป็นดิจิทัล ทั้งนี้ผู้เขียนได้ยกเอาตำนานปรัมปราที่โดดเด่นอีกสามเรื่อง ซึ่งปรากฏในสถานที่และช่วงเวลาที่แตกต่างกัน โดยสรุปให้เห็นถึงสัจธรรมของโลกว่าสื่อดิจิทัลเป็นพลังที่ไม่อาจต้านทานและมีคุณลักษณะที่เป็นสากล รวมถึงมีพลังอำนาจที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมทั้งในแง่มุมที่สร้างสรรค์และอันตราย ประวัติศาสตร์ของสื่อดิจิทัลจึงสะท้อนพัฒนาการที่ไม่หยุดนิ่งและสะท้อนธรรมชาติแห่งวิวัฒนาการของมนุษยชาติ
บทแนะนำหนังสือดีที่น่าอ่าน
หนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของสื่อดิจิทัล โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษาและนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์/สื่อสารมวลชน รวมไปถึงสาขาวิชาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสื่อดิจิทัล อาทิ บรรณารักษศาสตร์/สารสนเทศศึกษา/การจัดการสารสนเทศ ที่ถือว่าสื่อดิจิทัลเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าต่อมนุษยชาติและมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผู้เขียนนำเสนอความเป็นมาของสื่อดิจิทัล ปรัชญาที่เป็นรากฐานของสื่อดิจิทัลซึ่งก่อให้เกิดสิ่งประดิษฐ์ ระบบ เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ พร้อมทั้งนำเสนอแนวโน้มในอนาคตของสื่อดิจิทัลที่อาจส่งผลต่อกระทบต่ออุตสาหกรรมสื่อและสังคม รวมถึงการที่ผู้เขียนวิเคราะห์ถึงอำนาจของสื่อดิจิทัลที่สร้างผลกระทบต่อสังคมอย่างกว้างขวาง ผู้วิจารณ์เห็นว่าหนังสือเล่มนี้ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจในภูมิทัศน์ของสื่อดิจิทัลได้อย่างครอบคลุม แต่ละบทได้แสดงถึงวิธีการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์อย่างพิถีพิถันและนำเสนอมโนทัศน์ของสื่อดิจิทัลอย่างละเอียด รวมทั้งมีกลวิธีการการเขียนที่ช่วยให้ผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจเนื้อหาเชิงประวัติศาสตร์ได้โดยง่าย อาทิ การใช้สารบัญกรอบเนื้อหาพิเศษ (List of Boxes) การใช้อนุกรมเวลา หรือ วิทยาการลำดับเวลา (Chronology) เป็นต้น นอกจากนี้ยังนำเสนอองค์ความรู้เกี่ยวกับสื่อดิจิทัลที่อาจเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายหรือการประยุกต์ใช้สื่อดิจิทัลในบริบทของสังคมไทยได้ในอนาคต