Publication Ethics

จริยธรรมในการตีพิมพ์วารสารเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Publication Ethics) ของบรรณาธิการวารสาร (Editor) ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ (Reviewer) และผู้นิพนธ์ (Author)

 

จริยธรรมในการตีพิมพ์วารสารเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

วารสารเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้การดำเนินงานโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รับพิจารณาบทความวิชาการ บทความวิจัย ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเศรษฐศาสตร์  และได้รับการรับรองคุณภาพวารสารจากศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย เป็นวารสารกลุ่มที่ 1 (TCI Tier 1) ตั้งแต่ปี 2560 และกลุ่มที่ 2 (TCI Tier 2) ในปี 2563 ทั้งนี้ วารสารเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติ จรรยาบรรณ และจริยธรรมในการตีพิมพ์บทความวิชาการ บทความวิจัย ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานการตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ

 

การคัดลอกผลงาน (Plagiarism)

การคัดลอกผลงานโดยนำเนื้อหาจากบทความของผู้อื่นมาใช้ประกอบบทความของตนเองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของบทความ โดยไม่มีการกล่าวอ้างอิงถึงที่มาของเนื้อหาอย่างถูกต้อง หากกองบรรณาธิการตรวจสอบและพบว่ามีการกระทำดังกล่าว บทความนั้นจะถูกปฏิเสธโดยทันที

 

หน้าที่และความรับผิดชอบของบรรณาธิการและกองบรรณาธิการวารสาร

  1. บรรณาธิการและกองบรรณาธิการมีหน้าที่พิจารณาบทความที่ส่งมาเพื่อเข้ารับการตีพิมพ์กับวารสาร โดยคัดเลือกเนื้อหาบทความที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของวารสาร ก่อนส่งให้ผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อทำการประเมิน
  2. บรรณาธิการและกองบรรณาธิการมีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหาบทความหลังจากผู้นิพนธ์ทำการแก้ไขตามข้อเสนอแนะในรายงานการพิจารณาบทความของผู้ทรงคุณวุฒิ
  3. บรรณาธิการและกองบรรณาธิการต้องกระตือรือร้นในการติดตาม กำกับ ดูแล การประเมินบทความให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของวารสาร
  4. บรรณาธิการและกองบรรณาธิการต้องดำเนินการพิจารณาบทความด้วยความเป็นกลาง โดยการตัดสินใจในแต่ละบทความต้องไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ เพศ วัยวุฒิ หรือสถาบันที่ผู้นิพนธ์สังกัดอยู่ ต้องดำเนินการต่าง ๆ ด้วยความโปร่งใส ไม่บิดเบือน หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลหรือข้อความที่ใช้แลกเปลี่ยนระหว่างผู้ทรงคุณวุฒิและผู้นิพนธ์
  5. บรรณาธิการและกองบรรณาธิการต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้นิพนธ์และผู้ทรงคุณวุฒิให้แก่ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องทราบ และกระบวนการประเมินบทความโดยผู้ทรงคุณวุฒิจะต้องเป็นความลับ
  6. บรรณาธิการและกองบรรณาธิการต้องดำเนินการประเมินบทความโดยปราศจากผลประโยชน์ส่วนตัวหรือการมีส่วนได้ส่วยเสียกับผู้ทรงคุณวุฒิและผู้นิพนธ์
  7. บรรณาธิการและกองบรรณาธิการมีหน้าที่พัฒนา ปรับปรุง และรักษาคุณภาพของวารสารให้ทันสมัย ตรวจสอบการดำเนินการประเมินบทความให้ถูกต้องตามหลักจริยธรรมสากล
  8. บรรณาธิการและกองบรรณาธิการจะต้องมีการเปิดเผยหากมีผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of interest)

 

บทบาทหน้าที่ของผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ

  1. ผู้ทรงคุณวุฒิต้องทำการประเมินโดยคํานึงถึงคุณภาพบทความตามหลักวิชาการ พิจารณาบทความโดยให้ความสำคัญกับคุณค่าของเนื้อหาในบทความเป็นหลัก โดยปราศจากอคติหรือความคิดเห็นส่วนตัว
  2. ผู้ทรงคุณวุฒิต้องเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญ และมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาของบทความที่ได้รับไปพิจารณาอย่างแท้จริง
  3. ผู้ทรงคุณวุฒิต้องกรอกข้อเสนอแนะหรือข้อคิดเห็นจากการพิจารณาบทความลงในแบบฟอร์มการประเมินที่ทางวารสารกำหนดให้
  4. หากผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบแล้วพบว่าผู้นิพนธ์บทความกระทำผิดจรรยาบรรณ โดยการคัดลอกผลงาน บิดเบือนผลการวิจัย หรือใช้ผลการวิจัยเท็จในบทความ ต้องแจ้งให้กองบรรณาธิการทราบ
  5. ผู้ทรงคุณวุฒิที่ตอบรับการประเมินบทความ ต้องส่งผลการพิจารณาบทความนั้น ๆ ภายในระยะเวลาที่กำหนด
  6. ผู้ทรงคุณวุฒิจะต้องมีการเปิดเผยหากมีผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of interest)

 

บทบาทหน้าที่ของผู้นิพนธ์

  1. ผู้นิพนธ์ต้องนำเสนอบทความที่ไม่เคยได้รับการตีพิมพ์ หรืออยู่ในขั้นตอนการพิจารณาตีพิมพ์ในวารสารอื่น หรือได้รับการตอบรับให้ตีพิมพ์ในวารสารอื่น
  2. ผู้นิพนธ์ต้องไม่คัดลอกผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตนเอง
  3. ผู้นิพนธ์ต้องระบุส่วนอื่น ๆ ที่เป็นความเกี่ยวข้องหรือการให้ความช่วยเหลือส่วนบุคคลในบทความแก่ผู้นิพนธ์ ไว้ภายใต้หัวข้อย่อย “กิตติกรรมประกาศ”
  4. ผู้นิพนธ์ต้องทำการแก้ไขบทความต้นฉบับตามข้อเสนอแนะในรายงานการพิจารณาบทความของผู้ทรงคุณวุฒิ และบรรณาธิการวารสาร
  5. ผู้นิพนธ์ต้องส่งบทความที่แก้ไขตามข้อเสนอแนะในรายงานการพิจารณาบทความของผู้ทรงคุณวุฒิ และบรรณาธิการวารสาร ภายในระยะเวลาที่กำหนด
  6. ผู้นิพนธ์ต้องอ้างอิงเนื้อหา ภาพ ตาราง หรือผลงานของผู้อื่น หากมีการนําข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ในบทความ
  7. ผู้นิพนธ์ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของวารสารทุกประการ และต้องจัดรูปแบบบทความตามที่วารสารกำหนด
  8. ผู้นิพนธ์จะต้องมีการเปิดเผยหากมีผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of interest)