ความสัมพันธ์ระหว่างราคากุ้งกับคุณภาพของกุ้งในตลาดญี่ปุ่นและสหรัฐ
Abstract
สรุป
ราคากุ้งแช่แข็งในประเทศญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดลงไม่ว่ากุ้งจะนำเข้าจากประเทศใด ขนาดของกุ้งขนาดไหนและประเภทของกุ้งไม่ว่าจะเป็นกุ้งกุลาดำหรือแช่บ๊วยก็ตามต่างมีแนวโน้มลดลงทั้งสิ้น ยกเว้นกุ้งกุลาดำขนาดเล็ก คือ 26-30 ตัวต่อปอนด์จากประเทศไทย กุ้งแช่บ๊วยขนาดเล็ก 26-30 ตัวต่อปอนด์จากประเทศไทยอีกเช่นกัน และกุ้งกุลาดำขนาด 21-25 ตัวต่อปอนด์จากประเทศอินโดนีเซีย แต่แนวโน้มราคากุ้งกุลาดำขนาด 21-25 ตัวต่อปอนด์ ของอินโดนีเซียแม้ว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแต่ก็เล็กน้อยมาก แทบจะไม่มีความหมายเลยซึ่งอาจถือได้ว่ามีแนวโน้มคงที่ เพราะฉะนั้นจึงอาจสรุปได้ว่ามีเพียงกุ้งกุลาดำและกุ้งแช่บ๊วยของประเทศไทยในขนาดเล็ก (26-30 ตัวต่อปอนด์) เท่านั้นที่ราคามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
สาเหตุที่ราคากุ้งแช่แข็งส่วนใหญ่ (แทบทั้งหมด) ในตลาดประเทศญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดลง เพราะผู้บริโภคลดปริมาณการบริโภคกุ้งแช่แข็งลง อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจซบเซาของประเทศญี่ปุ่นมาเป็นเวลานาน ประมาณ 8-9 ปี จนกระทั่งต้นปี 1999 และข้อมูลที่ทำการศึกษานี้ก็อยู่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจซบเซาของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถึงบัดนี้ (ต้นปี 2000) แม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นจะเริ่มฟื้นตัวแล้วก็ตามแต่ก็ยังฟื้นตัวอย่างเบาบาง และยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่มาก ผู้บริโภคญี่ปุ่นจึงหันมานิยมบริโภคกุ้งที่มีราคาถูกลงจากประเทศอินโดนีเซีย อินเดีย และเวียดนามแทน ซึ่งได้สะท้อนให้เห็นได้จากการที่ราคากุ้งขนาดใหญ่ และขนาดกลางจากประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง แต่ราคากุ้งขนาดเล็กกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพราะผู้บริโภคหันมาบริโภคกุ้งที่มีคุณภาพต่ำลง เพราะว่าราคาถูกกว่า ดังจะเห็นได้จากการศึกษาของ Fredouse (1999) ที่พบว่าชาวญี่ปุ่นในขณะนี้เห็นว่ากุ้งเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยแม้ว่ากุ้งจะยังคงเป็นอาหารทะเลที่ยังคงเป็นที่นิยมอยู่ การเพิ่มขึ้นของราคากุ้งและการที่ผู้บริโภคหันมานิยมสินค้าราคาถูกทำให้ผู้บริโภคญี่ปุ่นมองหาทางเลือกใหม่ที่มีราคาถูกกว่า ซึ่งในไม่กี่ปีที่ผ่านมาเวียดนาม อินโดนีเซีย อินเดีย และเมื่อเร็วๆนี้บังคลาเทศ ได้ดึงความสนใจผู้บริโภคญี่ปุ่นมากขึ้น อันเนื่องมาจากคุณภาพที่ดีขึ้น และราคาถูกกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทย
ในทางตรงกันข้ามราคากุ้งในตลาดสหรัฐอเมริกากลับมีแนวโน้มสูงขึ้นโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกุ้งที่มีคุณภาพสูงจะมีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของราคามากกว่ากุ้งคุณภาพต่ำ ยกเว้นราคากุ้งกุลาดำจากประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีปริมาณนำเข้าในสหรัฐอเมริกาไม่มากนัก ทั้งนี้เพราะเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกามีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง และกำลังเติบโตต่อไปแม้ว่าจะมีการปรับตัวลงบ้างตามวัฏจักรเศรษฐกิจ แต่ในระยะปานกลางแล้วเป็นที่คาดกันว่ามีความเป็นไปได้ สูงที่เศรษฐกิจจะเติบโตต่อไปค่อนข้างยั่งยืน เพราะ ฉะนั้นทิศทางในการผลิตกุ้งส่งออกของไทยควรเน้นไปที่ตลาดสหรัฐอเมริกาให้มากขึ้น และในขณะเดียวกันก็ควรเน้นการผลิตกุ้งที่มีคุณภาพสูงให้มากขึ้นเช่นกัน ส่วนประเทศญี่ปุ่นนั้น ถ้าจะส่งออกราคาต้องไม่แพง กุ้งขนาดเล็กน่าจะมีแนวโน้มดีกว่ากุ้งขนาดใหญ่
Downloads
Issue
Section
License
All opinions and contents in the CMJE are the responsibility of the author(s). Chiang Mai University Journal of Economics reserves the copyright for all published materials. Papers may not be reproduced in any form without the written permission from Chiang Mai University Journal of Economics.
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏและแสดงในเนื้อหาบทความต่างๆในวารสารเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถือเป็นความเห็นและความรับผิดชอบโดยตรงของผู้เขียนบทความนั้นๆ มิใช่เป็นความเห็นและความรับผิดชอบใดๆของวารสารเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความ เนื้อหา และข้อมูล ฯลฯ ในวารสารเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถือเป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หากบุคคลหรือหน่วยงานใดต้องการนำทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใดไปเผยแพร่ต่อหรือเพื่อกระทำการใดๆ จะต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จากวารสารเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่