ผู้หญิงเหนือกับการเลี้ยงโคนม
Abstract
สรุปศักยภาพของผู้หญิงในการเลี้ยงโคนม
การศึกษาบทบาทของผู้หญิงในภาคเหนือได้ข้อสรุปว่า หญิงมีบทบาทมรการเลี้ยงโคนมที่สำคัญโดยหญิงมีบทบาทในการเสริมการทำงานของชายในการทำงานบางกิจกรรมโดยเฉพาะในด้านให้อาหารข้นและอาหารหยาบแก่แม่โคและลูกโค ทำความสะอาดตัวโคและคอก การไปช่วยเกี่ยวหญ้าหรือหาอาหารหยาบให้พร้อมกับชาย และการทำกิจกรรมงานบ้านเพื่ออำนวยความสะดวกแก่สมาชิกในครัวเรือน เช่น ทำกับข้าว ซักผ้า จ่ายตลาด นอกจากนั้น กิจกรรมอื่น ๆ หญิงและชายก็มักจะทำงานร่วมกัน เช่น การปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ แต่หญิงจะทำงานในกิจกรรมนอกฟาร์มมากกว่าชาย เช่น เย็บผ้า ปักผ้า รับจ้าง ค้าขาย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการฝึกอบรมในปัจจุบันชายมีโอกาสในการได้รับการอบรมและได้ความรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับการเลี้ยงโคนมมากว่าผู้หญิง เนื่องจากการฝึกอบรมจะฝึกแก่ผู้เลี้ยงโคหลักคนเดียว ซึ่งมักจะเป็นชายยกเว้นในบางครอบครัวที่หญิงเป็นผู้เลี้ยงโคหลัก เช่น หญิงโสด หญิงหม้าย หรือหญิงในครอบครัวชายมีอาชีพอื่น แต่เนื่องจาก ส่วนมากผู้หญิงไม่เคยรับรู้ในเรื่องการเลี้ยงโคนมจึงมีพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับโคนมน้อย เนื่องจาก เรียนรู้จากประสบการณ์จริงมากกว่าทางทฤษฏี คณะผู้วิจัยพบว่าในกลุ่มหญิง ความรู้ที่จำเป็นบางอย่างในการเลี้ยงโคนมให้ได้ผลดีขาดหายไป เช่น ความรู้เกี่ยวกับสายเลือดโคและการผสมพันธุ์โค คุณภาพของอาหารและการให้อาหาร คุณภาพน้ำนม โรคและการป้องกันโรค เป็นต้น
การทดสอบความรู้ระหว่างหญิงและชาย พบว่า มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องยกระดับความรู้ของผู้หญิงให้มากขึ้นทัดเทียมกับชาย และยกระดับความรู้ของทั้งหญิงและชายให้มากกว่าความรู้พื้นฐานในการเลี้ยงโคนม เนื่องจากปัจจุบันมีแรงกดดันให้ทั้งครัวเรือนเลี้ยงโคนม ยกมาตรฐานคุณภาพน้ำนมของเกษตรกรเป็นปัญหาที่ดูจะมีความรุนแรงมากขึ้นและส่งกระทบต่อครัวเรือนเกษตรกรทั้งระยะสั้นและระยะยาว ทั้งกลุ่มชายและหญิงมีความต้องการที่จะรีบความรู้มากขึ้น ในกลุ่มชายและหญิงมีความต้องการมากจะมีในเรื่องโรคและการผสมติด ส่วนในกลุ่มหญิงมีความต้องการในด้านเทคนิคและความรู้ทั่วๆ ไป เพื่อให้การเลี้ยงคุณภาพและปริมาณน้ำนมดีขึ้น
หญิงมีข้อจำกัดทางด้านเวลา เนื่องจากมีภาระงานบ้านซึ่งหนัก นอกจากนี้ งานบ้านส่วนใหญ่โดยเฉพาะการทำอาหารหรือเลี้ยงดูบุตรในช่วงเช้าและเย็น จะเป็ฌ็นงานที่แข่งขันกับเวลาเลี้ยงโคนม เนื่องจากเป็นงานที่แข่งขันด้านเวลากับการเลี้ยงโคนม เนื่องจากเป็นงานที่ต้องทำฝนช่วงเวลาเดียวกัน งานที่ต้องรีบทำ เช่น งานรีดนม และส่งนม จึงมักจะเป็นภารกิจของชายมากกว่าหญิง ยกเว้นในครัวเรือนที่มีหญิงหญิงเลี้ยงเป็นหลัก อาจจะมีผู้ช่วยซึ่งทำหน้าที่งานบ้านและทำอาหารแทน
ในครัวเรือนที่มีผู้หญิงเลี้ยงเป็นหลัก หญิงต้องทำงานทั้งในกิจกรรมโคนมและกิจกรรมบ้าน บทบาทของหญิงจะเด่นชัดในกรณีนี้ แต่การเก็บข้อมูลในเชิงคุณภาพ พบว่า ในครัวเรือนที่มีหญิงเลี้ยงโคเป็นหลักนั้น มักจะเป็นครัวเรือนที่ยากจนและขาดแคลนแรงงานบางทีเป็นหญิงหม้าย หญิงโสด หรือหญิงที่มีสามีเป็นอาชีพนอกการเกษตร เป็นต้น อย่างไรก็ตาม จากการสัมภาษณ์เจาะลึก พบว่า หญิงเหล่านี้เห็นว่าการเลี้ยงโคนมเป็นหลัก คือ รีดนม ส่งนม และงานหาอาหารหยาบ เช่น เกี่ยวหญ้า ขับรถไปหาอาหารหยาบ เช่น เปลือกข้าวโพด ฯลฯ ต่างถิ่น แต่หญิงเหล่านี้มักจะต้องอาศัยกลุ่มเลี้ยงโคนมช่วยเหลือ เช่น ไปหาอาหารหยาบด้วยกัน มีคนมารับนมไปส่ง เป็นต้น งานรีดนม ส่งนม เป็นงานที่ไม่หนักเกินไปสำหรับผู้หญิง แต่มักจะเป็นช่วงเดียวกันกับการทำงานบ้าน ซึ่งทำให้หญิงมีข้อจำกัดในการทำกิจกรรมเหล่านั้น
ในกรณีที่มีชายเลี้ยงโคเป็นหลัก หญิงจะทำงานโคนมน้อยกว่าชายทั้งนี้เนื่องจากหญิงมีข้อจำกัดด้านเวลา เพราะมีภาระงานบ้านที่ค่อนข้างหนักโดยหญิงจะทำงานในกิจกรรมโคนมประจำวันประมาณ 29ชั่วโมง/สัปดาห์ เทียบกับ 47ชั่วโมง/สัปดาห์ ในกลุ่มชาย และหญิงใช้เวลา 25ชั่วโมง/สัปดาห์ กับงานบ้านเทียบกับประมาณ 5ชั่วโมง/สัปดาห์ในกลุ่มชาย ในสัดส่วนการทำงานเช่นนี้ทำให้ฟาร์มโคนมไม่สามารถขยายขนาดฟาร์มได้มาก ถ้าหญิงสามารถมีเวลาให้กับโคนมมากขึ้น โดยสามารถลดภาระงานบ้านลงก็สามารถทำให้หญิงช่วยชายได้เต็มที่มากขึ้น ฟาร์มที่มีผู้ทำงานโคนมมากกว่า 2คน ก็สามารถมีขนาดฟาร์มที่ใหญ่ขึ้น อย่างไรก็ตามครัวเรือนเกษตรกรมักจะไม่นิยมจ้างแรงงาน เพราะต้องใช้เงินสดสูง บทบาทของผู้หญิง และผู้ช่วยในครัวเรือน ที่สามารถทำงานบางเวลา เช่น เด็กและคนแก่ จึงมีความสำคัญเพิ่มขึ้น ถ้าครัวเรือนใดไม่มีการสนับสนุนด้านแรงงานจากผู้หญิงและเด็กในครัวเรือนก็มักจะประสบปัญหาขลุกขลัก ซึ่งจะนำไปสู่การไม่ประสบผลสำเร็จได้
ในครัวเรือนที่มีชายเป็นผู้เลี้ยงหลักนั้น หญิงทำหน้าที่ช่วยงานที่เกินจากกำลังและเวลาของชาย เช่น งานให้อาหาร ทำความสะอาด งานเกี่ยวหญ้า หาอาหารหยาบ เลี้ยงลูกโค หรือทดแทนแรงงานของชายเมื่อชายไม่อยู่ หญิงจะเป็นผู้ทำให้งานโคนมราบรื่นไปได้ในแต่ละวันทำงาน แต่ในครัวเรือนเช่นนี้หญิงมักมีงานที่จะต้องทำในครัวเรือน เช่น ทำอาหาร ซักผ้า กวาดถูบ้าน ดูแลลูก จ่ายตลาด ฯลฯ
ในด้านการแบ่งงานกันทำนั้น ก็มีอยู่บ้างในการเลี้ยงโคนมชายจะทำงานในด้านรีดนม ส่งนม และผสมพันธุ์มากกว่าหญิง ในขณะที่หญิงจะให้อาหาร ทำความสะอาดวัว ทำความสะอาดคอกมากกว่าชาย โดยที่ปัจจุบันหญิงยังมีความรู้ที่น้อยกว่าชาย ส่วนใหญ่ชายมักจะเป็นผู้ตัดสินใจในเรื่องต่างๆเกี่ยวกับโคนม
งานวิจัยชิ้นนี้ ชี้ให้เห็นการแบ่งงานกันทำในครัวเรือน มีการช่วยเหลือกัน ระหว่างชายและหญิง เป็นรูปแบบ cooperative collective model ซึ่งมีความแตกต่างกันในบทบาท แต่เสริมกันในเป้าหมายของครัวเรือน งานวิจัยชิ้นนี้ ชี้ให้เห็นภาระงานที่หนักของผู้หญิงชนบท ในครัวเรือนที่เลี้ยงโคนม ที่ต้องมีภาระรอบด้าน แต่การเข้าถึงปัจจัยการผลิต และแหล่งทรัพยากรหรือความรู้ต่างๆ มีน้อยกว่าชายอย่างชัดเจน ทั้งเรื่องสินเชื่อ สหกรณ์ และความรู้จากเจ้าหน้าที่ เป็นต้น
คณะผู้วิจัยเห็นว่า ควรมีการยกศักยภาพของหญิงในการเลี้ยงโคนม ในแง่คุณภาพของการตัดสินใจ เช่น การตัดสินใจเรื่องการลงทุน การตัดสินใจเรื่องการกำหนดคุณภาพอาหาร การตัดสินใจเรื่องขนาดฟาร์ม การตัดสินใจเรื่องการจัดฝูงโคและสุขาภิบาล ซึ่งในด้านเหล่านี้บทบาทของผู้หญิงในการเลี้ยงโคปัจจุบันถูกจำกัดอยู่เนื่องจากมีความรู้น้อย และไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่ม สหกรณ์ การยกศักยภาพของผู้หญิงให้เป็นผู้เลี้ยงโคที่มีคุณภาพทัดเทียมชาย ควรต้องเป็นนโยบายสำคัญ ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนในทุกระดับและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
Downloads
Issue
Section
License
All opinions and contents in the CMJE are the responsibility of the author(s). Chiang Mai University Journal of Economics reserves the copyright for all published materials. Papers may not be reproduced in any form without the written permission from Chiang Mai University Journal of Economics.
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏและแสดงในเนื้อหาบทความต่างๆในวารสารเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถือเป็นความเห็นและความรับผิดชอบโดยตรงของผู้เขียนบทความนั้นๆ มิใช่เป็นความเห็นและความรับผิดชอบใดๆของวารสารเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความ เนื้อหา และข้อมูล ฯลฯ ในวารสารเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถือเป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หากบุคคลหรือหน่วยงานใดต้องการนำทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใดไปเผยแพร่ต่อหรือเพื่อกระทำการใดๆ จะต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จากวารสารเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่