ผลกระทบของการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาต่อสมาชิกภาพของเกษตรกรโครงการหลวง
Abstract
สรุป
งานวิจัยเรื่อง “ผลกระทบของการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาต่อสมาชิกภาพของเกษตรกรโครงการหลวง” มีวัตถุประสงค์ 4 ประการได้แก่ วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตและการตลาดของเกษตรกร ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของจำนวนและการไหลเวียนเข้าออกของสมาชิกโครงการหลวง ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการเป็นสมาชิกของเกษตรกรและประเมินผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานตามเป้าหมายของศูนย์พัฒนาของโครงการหลวง
ข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์เป็นข้อมูลปฐมภูมิซึ่งได้จากการรวบรวมข้อมูลภาคสนามโดยใช้แบบสอบถามและสัมภาษณ์เกษตรกรจำนวน 234 ราย โดยแบ่งเกษตรกรออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่ กลุ่มที่ปัจจุบันยังคงเป็นสมาชิกโครงการหลวง กลุ่มที่เคยเป็นสมาชิกแต่ได้ลาออกไปแล้ว และกลุ่มที่ไม่เคยเป็นสมาชิก เกษตรกรตัวอย่างทั้งหมดอยู่ในเขตพื้นที่ของศูนย์พัฒนาโครงการหลวง 6 แห่ง ได้แก่ ศูนย์พัฒนาแม่แฮใต้ อินทนนท์ และหนองหอย ซึ่งมีสมาชิกหมุนเวียนเข้าออกน้อย และศูนย์พัฒนาแม่ปูนหลวง แม่ทาเหนือ และแม่แพะ ซึ่งมีสมาชิกหมุนเวียนเข้าออกมาก
การเสนอผลการวิจัยได้จัดแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการเสนอข้อมูลที่สำคัญของประชากรตัวอย่างและอีกส่วนหนึ่งเป็นการวิเคราะห์ผลการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาต่อเกษตรกรซึ่งผลการวิจัยมีดังนี้
ผลการวิจัยที่เกี่ยวกับประชากรตัวอย่างพบว่า เกษตรกรตัวอย่างส่วนใหญ่ (ร้อยละ 80) เป็นชาย มีอายุระหว่าง 26-45 ปี ระดับการศึกษาสงสุดไม่เกินชั้นประถมปีที่ 4 ส่วนใหญ่มีเชื้อชาติกะเหรี่ยงและไทย โดยมีจำนวนสมาชิกในครัวเรือนระหว่าง 4-6 คน ในการเข้าเป็นสมาชิกของศูนย์พัฒนาทั้ง 2 กลุ่มที่มีสมาชิกเข้าออกมากและน้อย พบว่าส่วนใหญ่ได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่โครงการหลวง โดยมีเหตุผลที่สำคัญได้แก่ ความคาดหวังว่าจะมีรายได้สูงขึ้น ได้รับการสนับสนุนในเรื่องของปัจจัยการผลิต และมีแหล่งรับซื้อผลผลิตส่วนผู้ที่ลาออกจากการเป็นสมาชิกส่วนใหญ่มีเหตุสำคัญได้แก่การที่เกษตรกรไม่สามารถผลิตผลผลิตให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนดและการขาดแรงงานครอบครัวรวมทั้งการออกไปรับจ้างทำงานอื่น
เมื่อพิจารณาจากการประกอบอาชีพพบว่าเกษตรกรตัวอย่างเกือบทั้งหมด (มากกว่าร้อยละ 90) ทำการเกษตรเป็นอาชีพหลักและในส่วนของผู้ที่เป็นสมาชิกอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่มีที่ดินประมาณ 15 ไร่ต่อครัวเรือน มีการปลูกพืชหลายชนิดหมุนเวียนตลอดปีมีทั้งข้าวและพืชไร่ เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลืองและถั่วแดงรวมทั้งผักหลายชขิด สำหรับเกษตรกรที่มีพื้นที่เพาะปลูกขนาดใหญ่จะปลูกไม้ผลและพืชไร่เป็นหลัก จากการที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตรทำให้รายได้จากภาคการเกษตรเกินกว่าร้อยละ 50 ของรายได้ทั้งหมดของครัวเรือนโดยมีรายได้เฉลี่ยอยู่ระหว่าง 20,001-50,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี แต่เมื่อพิจารณาแยกกลุ่มตามการหมุนเวียนเข้าออกของสมาชิกพบว่า กลุ่มที่สมาชิกมีการหมุนเวียนเข้าออกน้อยมีรายได้สูงกว่า (ส่วนใหญ่ประมาณ 100,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี) เมื่อพิจารณารายได้นอกการเกษตรเปรียบเทียบระหว่าง 2 กลุ่มดังกล่าวพบว่ากลุ่มที่สมาชิกมีการหมุนเวียนเข้าออกมากมีรายได้น้อยกว่าเช่นกัน และเมื่อเปรียบเทียบผู้ที่เป็นสมาชิกและผู้ไม่เป็นสมาชิกพบว่า ผู้ที่เป็นสมาชิกมีจำนวนครัวเรือนที่มีรายได้นอกการเกษตรน้อยกว่าทั้งนี้เนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่สามารถทำการผลิตได้ตลอดทั้งปี
ในส่วนของรายจ่ายทางการเกษตรมีความแตกต่างกันตามปริมาณการผลิต ซึ่งมีค่าระหว่าง 5,000 – 50,000 บาท ส่วนรายจ่ายนอกการเกษตรไม่แตกต่างกันเท่าใด สำหรับแหล่งเงินทุนทางการเกษตรที่สำคัญ (โดยเฉพาะเกษตรกรที่เป็นสมาชิก) ได้แก่ สถาบันที่เกษตรกรเป็นสมาชิกอยู่ ซึ่งศูนย์ฯ บางแห่งได้ร่วมกับ ธกส. ในการอำนวยความสะดวกในการจัดหาสิยเชื่อและปัจจัยการผลิต (ร้อยละ 63 ของสมาชิกทั้งหมด) สินเชื่อส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี ยกเว้นเกษตรกรบางรายที่ปลูกไม้ผลระยะเวลาของสินเชื่อประมาณ 5 ปี ในส่วนของทรัพย์สินนั้นซึ่งสมาชิกมีอาชีพหลักทางการเกษตรทรัพย์สินส่วนใหญ่อยู่ในรูปของเครื่องมือและวัสดุการเกษตร อย่างไรก็ตามทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน เกษตรกรส่วนใหญ่มีอยู่หลายประเภทเกือบทุกครัวเรือน
สำหรับการวิเคราะห์ผลการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาพบว่าในส่วนการเปลี่ยนแปลงของจำนวนและการไหลเวียนของสมาชิกขอโครงการซึ่งใช้ Logit Model ในการวิเคราะห์ผลการศึกษาพบว่าปัจจัยที่มีผลต่อจำนวนการไหลเวียนของสมาชิกได้แก่ การมีความมั่นคงในชีวิต การได้รับความรู้จากโครงการ รายได้ที่ได้รับและระดับของการปรึกษาหารือเกี่ยวกับการผลิตในระหว่างสมาชิกด้วยกันเอง และสามารถอธิบายได้ว่าในการลาออกจากการเป็นสมาชิกนั้นเนื่องจากระดับรายได้ที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปหรืออาจลดลงเมื่อเป็นสมาชิก การไม่ได้รับความรู้ทางการผลิตจากเจ้าหน้าที่โครงการหรือไม่สามารถพึ่งพาโครงการได้ รวมทั้งความไม่มั่นใจในชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิก
ความยั่งยืนทางการเกษตรสามารถพิจารณาได้จากรูปแบบของการผลิตและรายได้ทางการเกษตรซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่เห็นว่าอาชีพเกษตรเป็นอาชีพที่ตนถนัด มีความมั่นคงและยืนยันที่จะประกอบอาชีพเกษตรเป็นหลักต่อไปโดยรักษาสถานภาพการเป็นสมาชิกอยู่และเมื่อพิจารณาผลกระทบของการผลิตที่มีต่อสิ่งแวดล้อมพบว่าพื้นที่ดำเนินงานของโครงการทำให้การแผ้วถางป่าลดลง ไม่มีการทำไร่เลื่อนลอย การใช้พื้นที่อยู่ในวงจำกัดประกอบกับมีการส่งเสริมการอนุรักษ์ป่าไม้ควบคู่ไปด้วยจึงทำให้เกษตรสามารถใช้พื้นที่เพาะปลูกได้ตลอดปี
ในด้านการตลาดกล่าวได้ว่าเกษตรกรสมาชิกโครงการไม่มีปัญหาดังกล่าวแต่อย่างใดเนื่องจากโครงการจะรับซื้อผลผลิตตามปริมาณการผลิตที่ได้ตกลงกันไว้ในราคาประกัน ซึ่งเป็นราคาที่ใกล้เคียงกับราคาตลาดและเป็นราคาที่เกษตรกรพอใจ นอกจากนี้ในบางศูนย์ยังมีบริการห้องเย็นเพื่อเก็บรักษาผลผลิต ฝ่ายคัดบรรจุและขนส่ง และฝ่ายตลาด อย่างไรก็ตามมิได้มีการปิดกั้นไม่ให้เกษตรกรจำหน่ายผลผลิตด้วยตนเอง จากการศึกษาพบว่าเกษตรกรสมาชิกทั้งหมดจำหน่ายผลผลิตให้กับโครงการและพอใจกับราคาที่ได้รับแม้บางครั้งอาจได้รับราคาต่ำกว่าที่พ่อค้ารับซื้อแต่ในระยะยาวราคาผลผลิตที่ได้รับจากโครงการหลวงดีกว่าแหล่งอื่น
ในปัจจุบันเกษตรกรมีแนวโน้มใช้สารเคมีในการเพาะปลูกมากขึ้น ก่อให้เกิดการตกค้างในดินและแหล่งน้ำซึ่งกระทบต่อคุณภาพชีวิตของเกษตรกรเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนทีเกี่ยวกับคุณภาพของดิน พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ (ร้อยละ 88) เห็นว่าก่อนเข้าเป็นสมาชิกคุณภาพดินอยู่ในระดับที่ดีแต่หลังจากเข้าเป็นสมาชิกแล้วมีเกษตรกรที่ยังคงเห็นว่าที่ดินยังคงคุณภาพเดิมอยู่ในสัดส่วนที่ลดลง ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณผลผลิตที่ได้รับซึ่งส่วนใหญ่เห็นว่าระดับของผลผลิตลดลง แม้ว่าเกษตรกรที่เข้าโครงการจะมีการใช้สารเคมีเพิ่มมากขึ้นแต่พบมีการใช้สารเคมีโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในสัดส่วนที่มากขึ้น (ก่อนเป็นสมาชิกร้อยละ 43 เมื่อเป็นสมาชิกสัดส่วนดังกล่าวเพิ่มเป็นร้อยละ 96) ทั้งนี้เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ได้รับความรู้จากการใช้สารเคมีจากเจ้าหน้าที่ศูนย์ เมื่อพิจารณาจากงานด้านสาธารณูปโภค การอนามัยและการศึกษาแล้ว การให้บริการดังกล่าวมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงอยู่แล้วในทุกศูนย์ แต่การให้บริการดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากการมีศูนย์ของโครงการหลวงเกิดขึ้นมาก่อนจึงมีงานบริการด้านอื่นตามมา ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ก็ได้รับบริการเหล่านี้ รวมทั้งผลตอบแทนทางเศรษฐกิจเป็นผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงในชีวิตที่มีต่อสมาชิก
การดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ของศูนย์พบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นได้แก่ การขาดแคลนบุคลากรซึ่งนับวันพื้นที่รับผิดชอบงานจะขยายออกไปมากขึ้น งบประมาณที่มีอยู่ค่อนข้างจำกัดไม่ทันกับการขยายงาน การค้างชำระหนี้ของเกษตรกรซึ่งเจ้าหน้าที่เห็นว่าสาเหตุของปัญหาดังกล่าวเป็นเพราะเกษตรกรขาดความรับผิดชอบในขณะที่บางรายไม่ยอมรับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ทำให้ผลผลิตที่ได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และมีปัญหาที่เกษตรกรบางส่วนไม่เข้าเป็นสมาชิกเนื่องจากยังไม่เข้าใจระบบปฏิบัติงานของ ธ.ก.ส แม้ว่าโดยหลักการแล้วจะอำนวยประโยชน์ให้แก่เกษตรกรโดยตรงซึ่งเจ้าหน้าที่เห็นว่าต้องมีการชี้แจงและใช้ระยะเวลาพอสมควรที่จะชักจูงให้เข้ามาเป็นสมาชิกในขณะเดียวกัน ธ.ก.ส ต้องปรับระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับความคิดและวัฒนธรรมของเกษตรกรในพื้นที่ด้วย
Downloads
Issue
Section
License
All opinions and contents in the CMJE are the responsibility of the author(s). Chiang Mai University Journal of Economics reserves the copyright for all published materials. Papers may not be reproduced in any form without the written permission from Chiang Mai University Journal of Economics.
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏและแสดงในเนื้อหาบทความต่างๆในวารสารเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถือเป็นความเห็นและความรับผิดชอบโดยตรงของผู้เขียนบทความนั้นๆ มิใช่เป็นความเห็นและความรับผิดชอบใดๆของวารสารเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความ เนื้อหา และข้อมูล ฯลฯ ในวารสารเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถือเป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หากบุคคลหรือหน่วยงานใดต้องการนำทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใดไปเผยแพร่ต่อหรือเพื่อกระทำการใดๆ จะต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จากวารสารเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่