ปัญหาการค้าชายแดนไทย-ลาว ในเขตภาคเหนือตอนบน
Abstract
สรุป
จากการศึกษาปัญหาการค้าชายแดน ไทย- สปป.ลาว ในเขตภาคเหนือตอนบนโดยมี จังหวัดที่มีการค้าชายแดนในเขตภาคเหนือตอนบน คือจังหวัดเชียงราย พะเยา และจังหวัดน่าน พบว่า ด่านเชียงของ(เชียงของ-ห้วยทราย) ซึ่งเป็นด่านถาวร และเป็นด่านสากลเพียงแห่งเดียว ในจังหวัดเชียงราย มีมูลค่าการค้าชายแดนในเขตภาคเหนือตอนบนสูงสุด ถึงร้อยละ 82.1 ของมูลค่าการค้าชายแดนไทย –สปป.ลาว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2533-2541 รองลงมาคือ ด่านถาวรที่ทุ่งช้าง จังหวัดน่าน(ห้วยโก๋น- เมืองเงิน) และด่านถาวรเชียงแสน (เชียงแสน- ต้นผึ้ง) จังหวัดเชียงรายตามลำดับ
จากการรวบรวมข้อมูล จากหน่วยงานต่างๆ สอบถามเจ้าหน้าที่และผู้ประกอบการค้าที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยพบว่า
ในส่วนของผู้ประกอบการคนไทย กลุ่มพ่อค้าส่งออกไทยไป สปป.ลาว มีทั้งผู้ประกอบการค้ารายใหญ่และรายย่อย โดยผู้ค้ารายย่อยจะมีมากกว่า ผู้ประกอบการค้าส่วนใหญ่จะอยู่ที่ด่านเชียงของ มากกว่าด่านอื่นๆ ในส่วนกลุ่มพ่อค้านำเข้า ไทยรายใหญ่ มีไม่มากนัก ที่ประกอบการค้าอย่างเป็นทางการส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเดียวกับพ่อค้าส่งออก
กลุ่มผู้ประกอบการ สปป.ลาว มีทั้งผู้ประกอบการค้ารายใหญ่และรายย่อยเช่นกัน ส่วนใหญ่จะอยู่ที่บริเวณเมืองห้วยทรายที่เป็นจุดผ่อนผ่านแดนที่สำคัญของ สปป.ลาว มากกว่าแหล่งอื่นๆ นอกนั้นเป็นผู้ประกอบการรายย่อยที่มาจากแขวงต่างๆ ในภาคเหนือของ สปป.ลาวที่เดินทางมาติดต่อการค้ากับไทย ที่ผ่านด่านเชียงของ-ห้วยทราย โดยกลุ่มพ่อค้าส่งออก-นำเข้าของ สปป.ลาว ในรายใหญ่มักจะเป็นกลุ่มเดียวกัน และพ่อค้ารายย่อยจะมีอยู่กระจายกันไปตามแนวชายแดน และแขวงต่างๆในเขตภาคเหนือของ สปป.ลาว และในการขนส่งจากไทยไป สปป.ลาว หลังจากติดต่อซื้อขาย ตามขั้นตอนปฏิบัติของทั้งสองประเทศแล้วก็จะกระจายสินค้าที่ซื้อจากประเทศไทยไป โดยอาศัยการขนส่งทางเรือ และทางรถยนต์ แต่การขนส่งทางเรือไป สปป.ลาว ยังไม่มีการประกันภัยสินค้า และพบว่าในช่วงฤดูแล้ง การบรรทุกสินค้าโดยใช้เรือขนาดใหญ่จะไม่สามารถกระทำได้ และมักจะมีอุบัติเหตุทางเรือ เนื่องจากมีเกาะแก่งในช่วงฤดูแล้งมาก สำหรับการขนส่งสินค้าโดยทางรถยนต์ที่กระจายไปยังส่วนต่างๆของ สปป.ลาว โดยเฉพาะในภาคเหนือของ สปป.ลาว นั้น พบว่าเส้นทางการคมนาคมโดยรถยนต์ ยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร และมีไม่มาก โดยพบว่า เส้นทางส่วนใหญ่จะเป็นถนนดิน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางมาก โดยเฉพาะช่วงฤดูฝน
ในด้านภาวะการค้าไทย-สปป.ลาว ที่ผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือตอนบน ที่ผ่านมาพบว่า การค้าชายแดนผ่านด่านถาวรที่ ด่านเชียงของ-ห้วยทราย ในจังหวัดเชียงราย เป็นด่านที่มีมูลค่าการค้าสูงสุด ในเขตภาคเหนือตอนบน โดยมีมูลค่าการค้าเฉลี่ยต่อปี ตั้งแต่ ปี 2533-2542 คือ 202.57 ล้านบาท รองลงมาคือ จังหวัดน่านที่ด่านถาวร ด่านทุ่งช้าง จุดการค้าห้วยโก๋น-เมืองเงินคือ 22.37 ล้านบาท และด่านถาวรที่ เชียงแสน จังหวัดเชียงราย (เชียงแสน-ต้นผึ้ง) มูลค่าการค้า 18.39 ล้านบาท
มูลค่าการส่งออกและนำเข้า จากไทยไปสปป.ลาว ที่สำคัญอยู่ที่ด่านเชียงของ (เชียงของ-ห้วยทราย) โดยมีมูลค่าการส่งออกโดยเฉลี่ย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533-2541 คือ 145.09 ล้านบาท (ร้อยละ 88.7 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด)
เมื่อพิจารณาดุลการค้าในเขตภาคเหนือตอนบนจะพบว่ามีมูลค่าเกินดุลเป็นส่วนใหญ่
ด้านสินค้าส่งออกที่สำคัญในปี เฉพาสินค้าที่ผ่านด่านที่สำคัญ คือด่านเชียงของ และเชียงแสน ในปี พ.ศ. 2538-2541 ยังคงพบว่า สินค้าส่งออกที่สำคัญเป็นสินค้าใน หมวดยานพาหนะ, หมวดอาหาร, น้ำมันเชื้อเพลิง และสิ่งก่อสร้าง และสินค้าอุปโภคบริโภคอันที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ตามลำดับ
ด้านสินค้านำเข้าที่สำคัญ และปี พ.ศ. 2538-2544 เฉพาะที่พิจารณา ในด่านที่สำคัญ ที่เชียงของ และ เชียงแสน จังหวัดเชียงราย ยังคงพบว่า สินค้านำเข้าที่สำคัญ ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คือ ไม้แปรรูป รองลงมา คือ ของป่า และสินค้าเกษตรอื่นๆบางชนิด
เมื่อพิจารณาสินค้าผ่านแดนจากประเทศที่สามที่ด่านเชียงของในปี พ.ศ. 2538-2541 ซึ่งมีประเทศศที่สำคัญ คือ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลี สหรัฐอเมริกา รัสเซีย พบว่า สินค้าส่วนใหญ่ คือ บุหรี่ กาแฟ และเครื่องดื่ม รองลงมา คือ ยานพาหนะ และวัสดุก่อสร้าง ซึ่งคล้ายคลึงกับสินค้าส่งออกของไทยไป สปป.ลาว ทั้งนี้สินค้าจาก สปป.ลาว ไปประเทศที่สาม ก็คือ ไม้แปรรูป และสินค้าเกษตรเช่นกัน
จากการรวบรวมข้อมูลและการสอบถามข้อมูลจากผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องพบว่าปัญหาการค้าชายแดนที่สำคัญในภาคเหนือตอนบนได้แก่
ปัญหาด้านการคมนาคมขนส่ง ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญต่อการขยายตัวของการค้าชายแดนไทย-สปป.ลาว โดยเฉพาะการขนส่งทางรถยนต์ เพื่อแพร่กระจายสินค้าไปยังเมืองต่างๆในประเทศ และโอกาสการขยยการค้าไปประเทศอื่นๆ เช่น จีน และเวียดนาม โดยผ่าน สปป.ลาว ในขณะที่การค้าชายแดนจองไทยอีกหลายแห่ง ก็มีปัญหาด้านการคมนาคม เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะจุดผ่อนปรนต่างๆ มีการคมนาคมที่ต้องปรับปรุงและไม่สะดวกหลายแห่ง จึงทำให้การค้าไม่ขยายตัวมากเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม พบว่ามีความคืบหน้าของการพยายามปรับปรุงการคมนาคมให้ดียิ่งขึ้นของทั้งสองประเทศ และการปรับปรุงถนนเพื่อเชื่อมโยงไปถึงประเทศจีนตอนใต้และเวียดนาม แต่อาจจะชะลอตัวลงได้ ตามวิกฤติเศรษฐกิจที่ทั้งสองประเทศเผชิญอยู่
ปัญหาการขาดแคลนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอื่นๆ เช่น ไฟฟ้า, ประปา, โทรศัพท์ เป็นต้น ยังคงขาดแคลนอยู่มากเช่นกัน ใน สปป.ลาว และในส่วนบางพื้นที่ ที่มีการค้าชายแดนโดยเฉพาะบริเวณชายแดนที่ไม่ใช่ด่านถาวร เช่นเดียวกับของไทย ซึ่งพบว่าบริเวณชายแดนจุดผ่อนปรนจะขาดแคลนมากกว่าจุดผ่านแดนถาวร
วิธีการชำระเงิน ยังคงอิงอยู่กับการใช้ระบบเงินสด โดยไม่ผ่านธนาคาร ถึงร้อยละ 80 โดยนิยมชำระเงินระหว่างกัน โดยใช้เงินบาท หรือเงินตราสกุลอื่น เช่น ดอลล่าร์สหรัฐ จึงทำให้มีปัญหาด้านความคล่องตัว และโอกาสในการขยายการค้าและหนี้สูญ
ปัญหาการค้านอกระบบ ตามแนวชายแดนต่างๆ และในส่วนผู้ประกอบการรายย่อย และบริเวณจุดผ่อนปรน ทั้งนี้เนื่องจาก ภูมิประเทศเอื้ออำนวย และเจ้าหน้าที่ที่ดูแลมีอยู่จำนวนน้อย ซึ่งมีการประเมินไว้ไม่ต่ำกว่า 3-4 เท่าของปริมาณการค้าในระบบในเขตภาคเหนือตอนบน
ปัญหากฎระเบียบต่างๆ และการบริหารจัดการ กฎระเบียบต่างๆ ไม่ใช้มาตรฐานเดียวกันและมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย โดยเฉพาะ สปป.ลาว ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวทำการค้าของผู้ประกอบการและการชะลอตัวของการค้าชายแดน
ปัญหาคู่แข่ง จากประเทศจีนและเวียดนาม ซึ่งมีสินค้าที่มีราคาต่ำกว่า แต่ยังมีคุณภาพด้อย และสินค้าผ่านแดนจากประเทศที่สาม เช่น สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น รัสเซีย เป็นต้น ซึ่งมีคุณภาพสูง มีแนวโน้มจะมีอัตราเพิ่มสูงขึ้น
ปัญหาข้อพิพาท ถึงแม้จะมีไม่มากนัก แต่พบว่าอาจส่งผลกระทบต่อการชะลอตัว ของการค้าชายแดนในบางครั้ง
ปัญหาประชากรของลาวส่วนใหญ่มีอำนาจซื้อน้อย เนื่องจากมีปริมาณประชากรไม่มากและมีรายได้เฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ต่ำและปัญหาภาวะเงินเฟ้อสูง รวมทั้งค่าเงินกีบตกต่ำจากการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนในปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา ใน สปป.ลาว ทำให้รัฐบาล สปป.ลาว ออกมาตรการจำกัดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมากขึ้น จึงส่งผลต่อภาวะการขยายตัวของการค้าชายแดน
ปัญหาผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในแถบเอเชีย เนื่องจาก สปป.ลาว เป็นประเทศที่พึ่งพาประเทศเหล่านี้สูง และประเทศไทยก็ประสบวิกฤติเศรษฐกิจที่จะต้องจัดการแก้ไขหลายประการ จึงมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อภาวะการค้าชายแดนในอนาคตเนื่องจากการขาดแคลนงบประมาณและแหล่งเงินทุนสนับสนุน
Downloads
Issue
Section
License
All opinions and contents in the CMJE are the responsibility of the author(s). Chiang Mai University Journal of Economics reserves the copyright for all published materials. Papers may not be reproduced in any form without the written permission from Chiang Mai University Journal of Economics.
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏและแสดงในเนื้อหาบทความต่างๆในวารสารเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถือเป็นความเห็นและความรับผิดชอบโดยตรงของผู้เขียนบทความนั้นๆ มิใช่เป็นความเห็นและความรับผิดชอบใดๆของวารสารเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความ เนื้อหา และข้อมูล ฯลฯ ในวารสารเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถือเป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หากบุคคลหรือหน่วยงานใดต้องการนำทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใดไปเผยแพร่ต่อหรือเพื่อกระทำการใดๆ จะต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จากวารสารเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่