ความสัมพันธ์ระหว่างความผันผวนของอัตราการแลกเปลี่ยนและการเคลื่อนย้ายเงินทุนของประเทศในเอเชีย

Authors

  • ณพล หงสกลุวสุ เศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิต คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • นิสิต พันธมิตร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • ไพรัช กาญจนการุณ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • ประพัฒชนม์ จริยะพันธุ์ อาจารย์ ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Abstract

บทคัดย่อ

            การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์สองประการ ประการแรก เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความผันผวนของอัตราการแลกเปลี่ยนและตัวแปรทางเศรษฐกิจมหภาค 4 ตัว ได้แก่ ความผันผวนอัตราดอกเบี้ย ความผันผวนอัตราเงินเฟ้อ ความผันผวนของอุปทานการเงิน และความผันผวนของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ประการที่สอง เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความผันผวนของอัตราการแลกเปลี่ยนและการเคลื่อนย้ายเงินทุน ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษานี้ เป็นข้อมูลรายเดือน ตั้งแต่เดือน มกราคม พ.ศ. 2540 ถึง เดือน ธันวาคม พ.ศ. 2549 รวม 120 เดือน ของประเทศไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น วิธีการศึกษาใช้สมการถดถอย ที่มีเทคนิคทางสถิติแบบ GARCH(1,1) T-GARCH และE-GARCH

            เนื่องจากข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาเป็นข้อมูลอนุกรมเวลา จึงทำการทดสอบลักษณะความแปรปรวนและความนิ่งของข้อมูล ผลการศึกษาพบว่าตัวแปรอัตราแลกเปลี่ยนของทุกประเทศเป็น AR (1) ซึ่งหมายความว่า อัตราการแลกเปลี่ยนในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีอิทธิพลต่ออัตราการแลกเปลี่ยนในช่วงเวลาปัจจุบัน และแบบจำลองของทุกประเทศมีนัยสำคัญทางสถิติที่แสดงว่าความแปรปรวนของแบบจำลองมีลักษณะที่ไม่นิ่ง หรือเรียกว่า Heteroskedasticity ซึ่งเป็นการยืนยันว่าการใช้แบบจำลอง GARCH ได้ และเมื่อทดสอบคุณสมบัติด้านความนิ่งของข้อมูลด้วยวิธี ADF และ KASS test พบว่าข้อมูลอัตราการแลกเปลี่ยนและข้อมูลการเคลื่อนย้ายทุนของทุกประเทศมีลักษณะนิ่งที่ระดับผลต่างอันดับหนึ่ง (First Difference)

            ผลการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความผันผวนของอัตราการแลกเปลี่ยนและความผันผวนของปัจจัยทางเศรษฐศาสตร์มหภาค 4 ตัว ด้วยวิธีการ GARCH(1,1) พบว่า ความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกันกับความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยนในประเทศไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ มีความสัมพันธ์ในทิศทางตรงกันข้ามในประเทศเกาหลีใต้ ส่วนในประเทศญี่ปุ่นและสิงคโปร์ไม่มีนัยสำคัญที่แสดงความสัมพันธ์ ความผันผวนของอัตราเงินเฟ้อมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนในประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์ แต่ในประเทศไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ นั้นมีความสัมพันธ์ในทิศทางตรงกันข้ามกัน ความผันผวนของอุปทานทางการเงินมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนในประเทศไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์และญี่ปุ่น ส่วนในกรณีประเทศเกาหลีใต้ มีความสัมพันธ์ในทิศทางตรงกันข้าม ส่วนในประเทศสิงคโปร์ไม่มีนัยสำคัญที่แสดงถึงความสัมพันธ์ สำหรับความผันผวนของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ พบว่ามีความสัมพันธ์ในทิศทางตรงกันข้ามกับความผันผวนของอัตราการแลกเปลี่ยน ในกรณีประเทศไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ส่วนกรณีประเทศฟิลิปปินส์พบความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกัน

            การศึกษาสัมพันธ์ระหว่างความผันผวนของอัตราการแลกเปลี่ยนและการเคลื่อนย้ายเงินทุน พบว่ามีความสัมพันธ์ในทิศทางตรงกันข้าม ในประเทศไทย ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น ส่วนในประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ไม่มีนัยสำคัญที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างความผันผวนของอัตราการแลกเปลี่ยนและการเคลื่อนย้ายเงินทุน

Abstract

            The purpose of this study was to examine the relationship between each of the following four macroeconomic indicators and exchange rate volatility: inflation rate volatility, interest rate volatility, money supply volatility, and growth rate volatility. This study also investigated the relationship between exchange rate volatility and net capital flows in six Asian countries: Thailand, Malaysia, Singapore, the Philippines, South Korea, and Japan. Secondary monthly data were used, from January 1997 to December 2006. Moreover, the Generalized Autoregressive Conditional Heteroskedastic Method was used in three ways: GARCH (1, 1), T-GARCH, and E-GARCH.

            The results showed that exchange rate had AR(1), which means the exchange rate in this period was influenced by the past period of exchange rate. The results also showed the heteroskedastic condition in the model, which supported the econometric method in this study was suitable. Both ADF and KPSS tests showed that the exchange rate and net capital flows were stationary at the first order of integration.

            The GARCH(1, 1) results showed a significantly direct relationship between interest rate volatility and exchange rate volatility in Thailand, Malaysia and the Philippines, while South Korea showed a significantly inverse relationship. There was a significantly direct relationship between inflation rate volatility and exchange rate volatility in the Philippines, South Korea and Japan; while Thailand, Malaysia and Singapore showed a significantly inverse relationship. A significantly direct relationship between money supply volatility and exchange rate volatility was shown in Thailand, Malaysia, the Philippines and Japan, but a significantly inverse relationship was apparent in South Korea. A significantly inverse relationship between growth rate volatility and exchange rate volatility was shown in Thailand, Malaysia, Singapore, South Korea and Japan, but the Philippines showed a significantly direct relationship.

            Finally, the result of this study showed a significantly inverse relationship between exchange rate volatility and net capital flows in Thailand, the Philippines, and Japan but had no relationship in Malaysia, Singapore and South Korea.

Downloads