การประเมินมูลค่านันทนาการของโครงการพัฒนาดอยตุง จังหวัดเชียงราย

Authors

  • นริศรา เอี่ยมคุ้ย มหาบัณฑิตสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ ภาคปกติ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • ประเสริฐ ไชยทิพย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • สังคม สุวรรณรัตน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • กาญจนา โชคถาวร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Abstract

บทคัดย่อ

            การประเมินคุณค่านันทนาการของโครงการพัฒนาดอยตุง จังหวัดเชียงราย มีวัตถุประสงค์สำคัญสองประการ คือ ประการแรก วิเคราะห์สมการอุปสงค์ของการท่องเที่ยวของโครงการพัฒนาดอยตุง ประการที่สอง สามารถประเมินมูลค่าคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้านนันทนาการของโครงการพัฒนาดอยตุงโดยใช้แบบจำลองของต้นทุนการท่องเที่ยวแบบส่วนบุคคล ตามแบบสถานที่เดี่ยว

            จาการประมวลผลตามแบบจำลองต้นทุนการท่องเที่ยวแบบส่วนบุคล พบว่า รูปแบบสมการอุปสงค์ของการท่องเที่ยวของโครงการพัฒนาดอยตุงที่เหมาะสมที่สุดอยู่ในรูปแบบสมการแบบล็อกคู่ (Double log) โดยมีตัวแปรอิสระ คือ ต้นทุนเฉพาะค่าเดินทางท่องเที่ยว และตัวแปรทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของนักท่องเที่ยวชาวไทย โดยที่ต้นทุนเฉพาะค่าเดินทางมีผลเชิงลบกับจำนวนครั้งของการมาท่องเที่ยวค่อนข้างสูงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อีกทั้ง นักท่องเที่ยวเพศหญิงและมีสถานภาพสมรสแล้วมีความสัมพันธ์เชิงลบกับจำนวนครั้งที่มาเที่ยว โครงการพัฒนาดอยตุงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เช่นกัน แต่อายุของนักท่องเที่ยว และความต้องการที่จะกลับมาเที่ยวอีกของนักท่องเที่ยวมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับจำนวนครั้งที่มาเที่ยวโครงการพัฒนาดอยตุงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

            ผลการประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจของโครงการพัฒนาดอยตุง พบว่า มูลค่าส่วนเกินของผู้บริโภคต่อคน เท่ากับ 466.86 บาท และมีจำนวนครั้งของการมาเที่ยวที่โครงการพัฒนาดอยตุงโดยเฉลี่ยต่อปี เท่ากับ 1.64 ครั้ง ดังนั้น มูลค่าส่วนเกินของผู้บริโภคต่อการมาแต่ละครั้ง เท่ากับ284.67 บาทต่อครั้ง และมีมูลค่านันทนาการของโครงการพัฒนาดอยตุง เท่ากับ 208.68 ล้านบาทต่อปี และเนื่องจากจำนวนพื้นที่ทั้งหมดของโครงการพัฒนาดอยตุงมีเท่ากับ 93,515 ไร่ จึงได้มูลค่านันทนาการของโครงการพัฒนาดอยตุงต่อพื้นที่เท่ากับ 2,231.52 บาทต่อไร่ต่อปี และเมื่อคำนวณมูลค่าปัจจุบันของโครงการพัฒนาดอยตุงที่ระยะเวลาต่อเนื่องไป 15 ปี โดยใช้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ของธนาคารในปี พ.ศ. 2545 ทั้ง 3 ระดับ คือ จะใช้อัตราดอกเบี้ยเงินออมทรัพย์โดยเฉลี่ยซึ่งเท่ากับร้อยละ 1.50 ได้มูลค่าปัจจุบันเท่ากับ 4,252 ล้านบาท และถ้าสมมติให้ในอนาคตอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจึงใช้อัตราคิดลดเท่ากับร้อยละ 2.00 ได้มูลค่าปัจจุบันเท่ากับ 4,073 ล้านบาท และถ้าสมมติให้ในอนาคตอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์มีแนวโน้มลดลงจึงใช้อัตราคิดลดเท่ากับร้อยละ 1.00 ได้มูลค่าปัจจุบันเท่ากับ 4,442 ล้านบาท

            สรุปจากผลการศึกษานี้สามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลเชิงวิชาการในการศึกษาเส้นอุปสงค์ของการท่องเที่ยวด้านนันทนาการ และเพื่อเป็นประโยชน์แก่ภาครัฐและเอกชนนำมาเป็นแนวทางในการวางแผนในการจัดการสภาพแวดล้อมของสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในพื้นที่ของโครงการพัฒนาดอยตุง และสามารถนำมูลค่านันทนาการไปประยุกต์เพื่อเปรียบเทียบกับสถานที่ท่องเที่ยวที่มีลักษณะนันทนาการใกล้เคียงกันโดยวิธีการส่งผ่านผลประโยชน์ และสามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์และประเมินโครงการโดยวิธีวิเคราะห์ต้นทุนและผลประโยชน์ในด้านที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมูลค่าทางเศรษฐกิจทางเศรษฐกิจเหล่านี้เป็นต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมเปรียบเสมือนต้นทุนของโครงการเช่นกัน

Downloads