การจัดการธุรกิจหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาของชุมชนบ้านเหมืองกุงและชุมชนบ้านกวน อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่
Abstract
บทคัดย่อ
การศึกษาเรื่องการจัดการธุรกิจหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผา มีวัตถุประสงค์เพ่อการศึกษาถึงการประกอบการ การจัดการ ปัญหาและอุปสรรคตลอดจนศึกษาแนวทางการพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาของชุมชนบ้านกวน ตำบลหารแก้ว และชุมชนบ้านเหมืองกุง ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่
ในการศึกษาได้ทำการเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยวิธีการเจาะจง (Purposive Sampling) ได้กลุ่มประชากรตัวอย่างในชุมชนบ้านเหมืองกุง ซึ่งประกอบด้วยผู้ประกอบการรายใหญ่และรายย่อยจำนวน 24 ราย และในชุมชนบ้านกวนซึ่งมีเฉพาะรายย่อย จำนวน 16 ราย จากการใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มประชากรตัวอย่างที่ได้ ได้นำมาทำการวิเคราะห์โดยวิธีการทางสถิติเพื่อหาค่าที่ต้องการและทำการทดสอบสมมติฐานเพื่อหาความเชื่อมั่นในผลของการศึกษา ณ ระดับนัยสำคัญ 0.05
ผลการศึกษาพบว่า ผู้ผลิตรายใหญ่ในชุมชนบ้านเหมืองกุง ซึ่งมีเพียงสองราย ประกอบการในธุรกิจนี้โดยใช้วัสดุอุปกรณ์ในการผลิตบางส่วนยังเป็นแบบดั้งเดิม บางส่วนได้นำเอาเทคโนโลยีมาใช้ ใช้วัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น มีต้นทุนการผลิตค่อนข้างต่ำ มีรายได้จากผลผลิตเฉลี่ย 150,000 บาทต่อเดือน ส่วนการจัดการด้านบัญชีและการเงินผู้ประกอบการยังไม่มีประสบการณ์หรือความรู้ที่จะจัดระบบในด้านดังกล่าวในธุรกิจของตนได้ดีพอ ในด้านการตลาดผู้ผลิตยังขาดวิธีการทำการตลาดทั้งในท้องถิ่นและในวงกว้าง และที่สำคัญผลิตภัณฑ์ยังไม่ได้มีการประประทับตราหรือมียี่ห้อให้เป็นที่สังเกตได้ชัดเจน จึงทำให้อยู่ในภาวะที่เสียเปรียบแก่คู่แข่งขันที่ผลิตสินค้าอย่างเดียวกันในท้องถิ่นหรือจังหวัดอื่น
ส่วนผู้ประกอบการรายย่อยในชุมชนเดียวกันมีวิธีการดังกล่าวข้างต้นทุกๆด้านเหมือนกับผู้ประกอบการรายใหญ่และนอกจากนี้ในด้านผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ ผู้ผลิตรายย่อยไม่มีตลาดเป็นของตนเอง แต่ต้องอาศัยตลาดของผู้ผลิตรายใหญ่โดยจำหน่ายผ่านผู้ผลิตรายใหญ่ หรือรับจ้างผลิตจากรายใหญ่ และในบางครั้งจะมีพ่อค้าคนกลางในท้องถิ่นมารับเอาสินค้าไปขาย
ทางด้านผู้ประกอบการในชุมชนบ้านกวนมีวิธีการผลิตที่แตกต่างจากชุมชนข้างต้นในด้านการผลิตซึ่งยังใช้วิธีการผลิตแบบดั้งเดิมอยู่ วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ก็หาได้จากในท้องถิ่นข้างเคียง ใช้แรงงานในครัวเรือนช่วยประกอบการ ผลผลิตที่ผลิตได้มีการจำหน่ายในอำเภอใกล้เคียงทำให้มีตลาดแคบและสินค้าไม่เป็นที่รู้จักดีพอ ไม่มีการพัฒนาเทคโนโลยีในทุกด้านในการผลิตโดยเฉพาะการพัฒนารูปแบบและลวดลายของผลิตภัณฑ์ สำหรับวิธีการจัดการด้านบัญชีและการเงิน การได้รับข่าวสาร แหล่งสนับสนุนธุรกิจของชุมชนบ้านกวนจะขาดวิธีการบริหารจัดการและขาดการสร้างเครือข่ายในด้านข่าวสารเช่นเดียวกับชุมชนบ้านเหมืองกุง
ปัญหาและอุปสรรคของการประกอบธุรกิจทั้งสองชุมชนดังกล่าว จึงเป็นปัญหาทั้งด้านการผลิต การบัญชีและการเงิน การตลาด บุคลากรและแรงงาน และการพัฒนาในด้านเทคโนโลยี ซึ่งเป็นผลทำให้ธุรกิจทั้งสองชุมชนไม่เติบโตหรือขยายตัวเท่าที่ควรจะเป็น
ข้อเสนอแนะจากผลการศึกษาในครั้งนี้คือ ผู้ประกอบการควรจะมีการพัฒนาในด้านการผลิตในธุรกิจของตนเอง โดยศึกษา อบรม หาความรู้ด้วยตนเองเกี่ยวกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อสร้างความทันสมัยให้ผลผลิตที่จะดึงดูดใจผู้บริโภคให้มีความพึงพอใจ รวมทั้งสร้างความมีคุณภาพและมาตรฐานของสินค้า และที่สำคัญต้องมีวิธีการทำตลาดที่กว้างไกล เพื่อรองรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ผู้ประกอบการจะต้องมีการจัดระบบการบริหารจัดการภายในหน่วยผลิตของตนเองทั้งในด้านแรงงานที่ต้องมีการฝึกอบรม ตลอดจนระบบบัญชีและการเงิน การสร้างเครือข่ายเพื่อการรับรู้ข่าวสารจากภายนอกที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของตนเอง และการแสวงหาเงินทุนที่จะสนับสนุนช่วยเหลือรวมทั้งหาตลาดภายนอกจากภาครัฐหรือเอกชนต่อไป
Downloads
Issue
Section
License
All opinions and contents in the CMJE are the responsibility of the author(s). Chiang Mai University Journal of Economics reserves the copyright for all published materials. Papers may not be reproduced in any form without the written permission from Chiang Mai University Journal of Economics.
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏและแสดงในเนื้อหาบทความต่างๆในวารสารเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถือเป็นความเห็นและความรับผิดชอบโดยตรงของผู้เขียนบทความนั้นๆ มิใช่เป็นความเห็นและความรับผิดชอบใดๆของวารสารเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความ เนื้อหา และข้อมูล ฯลฯ ในวารสารเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถือเป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หากบุคคลหรือหน่วยงานใดต้องการนำทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใดไปเผยแพร่ต่อหรือเพื่อกระทำการใดๆ จะต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จากวารสารเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่