ความต้องการสินเชื่อและภาระหนี้สินของข้าราชการครู สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ปี พ.ศ.2544
Abstract
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์หลักของการศึกษาครั้งนี้คือ เพื่อศึกษาสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ความต้องการสินเชื่อ และภาระหนี้สิน ตลอดจนปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาของข้าราชการครู สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ปี พ.ศ. 2544 ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาได้มาจากการสอบถามข้าราชการครู สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล จำนวน 5 ภาค คือ เหนือ กลาง ใต้ ตะวันออก ตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 16 วิทยาเขต/คณะ/สถาบันจำนวน 452 ตัวอย่าง โดยได้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ตามระดับรายได้ (ตำแหน่งทางวิชาการ) คือ
กลุ่มที่ 1 ได้แก่ ครู 1 ครู 2 อาจารย์ 1 ระดับ 3-5
กลุ่มที่ 2 อาจารย์ 2 ระดับ 6-7
กลุ่มที่ 3 อาจารย์ 3 ระดับ 8 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์
และแต่ละกลุ่มได้แบ่งออกตามลักษณะของสินเชื่อเพื่อการบริโภค 3 ประเภทคือ เพื่อการเคหะสงเคราะห์ เพื่อซื้อรถยนต์ เพื่อซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ หรือเพื่อการศึกษา เพื่อการท่องเที่ยว โดยเฉพาะแหล่งสินเชื่อที่เป็นสถาบันการเงินเท่านั้น
ผลการศึกษาสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของข้าราชการครูสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล พบว่า ข้าราชการครูทั้ง 3 กลุ่ม ผู้ตอบแบบสอบถาม ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย มีสถานภาพสมรสมากที่สุด มีการศึกษาอยู่ที่ระดับปริญญาโท มีผู้อยู่ในอุปการะ (รวมบุตร) มากที่สุด จำนวน 2 คน เฉพาะข้าราชการครู กลุ่มที่ 2 เท่านั้นที่มีภาระค่าใช้จ่ายทั้งคนในครอบครัวและนอกครอบครัว
ผลการศึกษาด้านภาระหนี้สินและปัญหาหนี้สินของข้าราชการครูสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล พบว่า พฤติกรรมในการเลือกใช้สินเชื่อส่วนใหญ่จะเป็นสินเชื่อเพื่อเคหะมากที่สุด และแหล่งที่มีของสินเชื่อจะเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ครูมากที่สุด ที่เหลือเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล และสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งรวมกันทั้งหมดคิดเป็นร้อยละ 54.20 อีกประมาณร้อยละ 45.80 ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารออมสิน และสถาบันการเงินอื่นๆ ด้านค่าใช้จ่ายแล้ภาระหนี้สิน ชำระคืนเงินกู้ ส่วนใหญ่จะมีภาระค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคและชำระหนี้คิดมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 61.23 โดยเฉพาะ กลุ่มที่ 1 จะมีภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้มากที่สุด คิดเป็นร้อยละถึง 93.36 ส่วนด้านปัญหาหนี้สินของข้าราชการครู พบว่าข้าราชการครูที่มีปัญหาด้านหนี้สินระดับมาก จะมีปัญหาเรื่องอัตราดอกเบี้ยในการกู้ยืมที่สูง ข้าราชการครูที่มีปัญหาระดับปานกลางถึงน้อยจะมีปัญหาเรื่องความไม่สะดวกที่ได้รับจากการบริการของเจ้าหน้าที่ของแหล่งเงินกู้ และระยะเวลาการชำระคืนเงินกู้ที่สั้นไป ด้านสาเหตุที่สำคัญที่สุด ในการขอกู้ยืมเงิน คือรายได้จากเงินเดือนที่ต่ำไปไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน ปัญหาจากการมีหนี้สินมีบ้างเล็กน้อยในเรื่องของการขาดขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน
ผลการวิเคราะห์ ความต้องการสินเชื่อข้าราชการครูได้ศึกษาถึงปัจจัยที่สามารถอธิบายการเปลี่ยนแปลงความต้องการสินเชื่อ ผลกระทบเมื่อปัจจัยเหล่านั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงไป และพยากรณ์ปริมาณความต้องการสินเชื่อทั้ง 3 ประเภท ของข้าราชการครูทั้ง 3 กลุ่ม พบว่า
ฟังก์ชั่นความต้องการสินเชื่อเพื่อการเคหะ กลุ่มที่ 1 ตัวแปรอิสระทั้ง 5 ตัว คือราคาบ้าน (Px1) รายได้ผู้กู้ (Y) อัตราดอกเบี้ย (Int) ระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ (per) ทรัพย์สินที่มีกรรมสิทธิ์ของผู้กู้ (A) สามารถอธิบายการเปลี่ยนแปลงปริมาณความต้องการสินเชื่อหรือตัวแปรตามได้ถึงร้อยละ 99.35 (R2=99.35)
ทำนองเดียวกันฟังก์ชั่นความต้องการสินเชื่อเพื่อการเคหะ กลุ่มที่ 2 ตัวแปรอิสระทั้ง 5 ตัว ดังกล่าว สามารถอธิบายการเปลี่ยนแปลงตัวแปรตามได้ถึงร้อยละ 98 (R2=98.00)
ฟังก์ชั่น ความต้องการสินเชื่อเพื่อซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ กลุ่มที่ 2 ตัวแปรอิสระ ทั้ง 5 ตัว คือ ราคาเครื่องใช้เพื่ออำนวยความสะดวก หรือเงินต้นเพื่อการศึกษา เพื่อการท่องเที่ยว (Px2) รายได้ผู้กู้ (Y) อัตราดอกเบี้ย (Int) ระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ (per) ทรัพย์สินที่มีกรรมสิทธิ์ของผู้กู้ (A) สามารถอธิบายการเปลี่ยนแปลงปริมาณความต้องการสินเชื่อ หรือตัวแปรตามได้ถึงร้อยละ 94.00 (R2=94.00)
ฟังก์ชั่นความต้องการสินเชื่อเพื่อการเคหะและเพื่อซื้อรถยนต์ กลุ่มที่ 3 ตัวแปรอิสระทั้งหมดสามารถใช้อธิบายการเปลี่ยนแปลงปริมาณความต้องการสินเชื่อหรือตัวแปรตามได้ถึงร้อยละ 99.00 (R2=99.00)
ส่วนผลของการเปลี่ยนแปลง ตัวแปรอิสระที่มีผลต่อตัวแปรตามหรือพฤติกรรมในการกู้ยืมเงินของข้าราชการครูทั้ง 3 กลุ่มในสินเชื่อทุกประเภท พบว่าตัวแปรอิสระที่มีความสำคัญมากที่สุด โดยพิจารณาจากค่าความยืดหยุ่นของอุปสงค์ของสินเชื่อ ได้แก่ ปัจจัย ราคาบ้าน ราคารถยนต์ ราคาเครื่องใช้เพื่ออำนวยความสะดวก โดยความยืดหยุ่นของอุปสงค์ของสินเชื่อต่อราคารถยนต์ มีค่ามากกว่า 1 ความยืดหยุ่นของอุปสงค์ของสินเชื่อต่อราคาบ้านและราคาเครื่องใช้เพื่ออำนวยความสะดวกอื่นๆ มีค่าน้อยกว่า 1 ตามลำดับ
ในส่วนสุดท้าย เป็นการพยากรณ์ความต้องการสินเชื่อของข้าราชการครู ทั้ง 3 กลุ่ม พบว่า กลุ่มที่ 1 มีปริมาณความต้องการสินเชื่อ ทั้ง 3 ประเภท อยู่ระหว่างประมาณ 242,840.88 บาทต่อราย ถึง 601,847.89 บาทต่อราย
กลุ่มที่ 2 มีปริมาณความต้องการสินเชื่อ ทั้ง 3 ประเภท อยู่ระหว่างประมาณ 301,410.55 บาทต่อราย ถึง 1,029,048.86 บาทต่อราย
กลุ่มที่ 3 มีปริมาณความต้องการสินเชื่อ ทั้ง 3 ประเภท อยู่ระหว่างประมาณ 475,394.68 บาทต่อราย ถึง 1,060,132.53 บาทต่อราย
Downloads
Issue
Section
License
All opinions and contents in the CMJE are the responsibility of the author(s). Chiang Mai University Journal of Economics reserves the copyright for all published materials. Papers may not be reproduced in any form without the written permission from Chiang Mai University Journal of Economics.
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏและแสดงในเนื้อหาบทความต่างๆในวารสารเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถือเป็นความเห็นและความรับผิดชอบโดยตรงของผู้เขียนบทความนั้นๆ มิใช่เป็นความเห็นและความรับผิดชอบใดๆของวารสารเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความ เนื้อหา และข้อมูล ฯลฯ ในวารสารเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถือเป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หากบุคคลหรือหน่วยงานใดต้องการนำทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใดไปเผยแพร่ต่อหรือเพื่อกระทำการใดๆ จะต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จากวารสารเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่