การยอมรับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนของประชาชนในเขตพื้นที่ดำเนินการในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน

Authors

  • กวินทร์ วิชาลัย ผู้ช่วยนักวิจัยโครงการ “การพัฒนากลุ่มออมทรัพย์เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในเขตพื้นที่โครงการหลวง”
  • ธเนศ ศรีวิชันลำพันธ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Abstract

บทคัดย่อ

            การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษา (1) รูปแบบและกระบวนการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน (2) ปัจจัยที่มีผลต่อการยอมรับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนของประชาชนในเขตพื้นที่ดำเนินการในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูนและ (3) โอกาสที่จะเผยแพร่และขยายการดำเนินงานของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน

            ในการศึกษาเรื่องนี้ได้เก็บรวบรวมข้อมูลโดยมีขอบเขตการศึกษาในเขตพื้นที่ 5 ตำบล ได้แก่ ตำบลดอนแก้ว ตำบลออนใต้ ตำบลป่าป้อง ตำบลแม่แฝกของจังหวัดเชียงใหม่ และตำบลศรีบัวบานของจังหวัดลำพูน ซึ่งแยกเป็นกลุ่มตัวอย่างครัวเรือนที่เป็นสมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน จำนวน 360 ตัวอย่าง และกลุ่มตัวอย่างครัวเรือนที่ไม่เป็นสมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน จำนวน 240 ตัวอย่าง รวมทั้งสิ้น 600 ตัวอย่าง เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือแบบสอบถามพร้อมการสัมภาษณ์ ซึ่งข้อมูลที่ได้มานั้นนำมาวิเคราะห์โดยการหาค่าต่างๆ เช่น ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของปัจจัยที่มีผลต่อการยอมรับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนของประชาชนในเขตพื้นที่ดำเนินการ โดยใช้แบบจำลอง Logit Model ผลการศึกษาพบว่า รูปแบบของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน มี 3 รูปแบบ คือ (1) รูปแบบของกลุ่มเครดิตยูเนี่ยน ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ กลุ่มเครดิตยูเนี่ยนประเภทกลุ่มสะสม และกลุ่มเครดิตยูนี่ยนประเภทสมทบ (2) รูปแบบของการจดทะเบียนเป็นสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน และ (3) รูปแบบของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนที่ให้บริการในลักษณะธนาคาร ส่วนปัจจัยที่มีผลต่อการยอมรับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนของประชากรในเขตพื้นที่ดำเนินการในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน ได้แก่ (1) จำนวนสมาชิกในครัวเรือน (2) การเป็นสมาชิกกลุ่มอื่น (3) การเข้าร่วมประชุมเตรียมการก่อตั้งกลุ่มเครดิตยูเนี่ยน (4) การทราบหลักการดำเนินงานของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน (5) การทราบว่าชุมชนสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย จำกัด คือ หน่วยงานที่รับผิดชอบและติดตามดูแลการดำเนินงานของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน (6) การทราบว่าสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเป็นสถาบันการเงินของชุมชน และเป็นนิติบุคคลที่ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย (7) การเลือกใช้บริการกู้ยืมเงินจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน และ (8) การเข้าเป็นสมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนด้วยความสมัครใจ ส่วนโอกาสที่จะขยายการดำเนินงานของเครดิตยูเนี่ยนครบทุกพื้นที่จะเห็นได้ว่าจังหวัดเชียงใหม่มีกลุ่มและสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนทั้งหมด 71 แห่ง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนของหมู่บ้านทั้งหมดแล้วพบว่าในจังหวัดเชียงใหม่มีกลุ่มและสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเพียงร้อยละ 3.77 ของหมู่บ้านทั้งหมดในพื้นที่ ซึ่งถือได้ว่ามีการดำเนินงานอยู่น้อยมาก ดังนั้นโอกาสที่จะขยายการดำเนินงานของเครดิตยูเนี่ยนให้ครบทุกหมู่บ้านยังมีมากถึงร้อยละ 96.23 ของหมู่บ้านทั้งหมดในพื้นที่ โดยเฉพาะยังมีอีกหลายอำเภอที่ไม่มีการดำเนินงานของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเลย ฉะนั้นจึงเป็นโอกาสที่จะขยายการดำเนินงานเข้าสู่พื้นที่ดังกล่าว และในจังหวัดลำพูนมีสัดม่วนของหมู่บ้านที่มีกลุ่มและสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเพียงร้อยละ 1.28 ของหมู่บ้านทั้งหมดในพื้นที่และโอกาสที่จะขยายการดำเนินงานของเครดิตยูเนี่ยนให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ยังมีมากถึงร้อยละ 98.72 ของหมู่บ้านทั้งหมดในพื้นที่

            ข้อเสนอแนะ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนควรจะต้องให้ความเอาใจใส่ต่อสมาชิกให้มากขึ้น โดยเฉพาะกรรมการจะต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่เพื่อประโยชน์ของสมาชิก ซึ่งจะนำไปสู่ความไว้วางใจและทำให้เกิดการยอมรับของประชาชน หากสหกรณ์ใดประสบปัญหาการขาดความเชื่อมั่นจากสมาชิก สหกรณ์นั้นควรที่จะได้รับการปรับปรุงบทบาทและการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการโดยให้คำนึงถึงประโยชน์ของสมาชิกเป็นหลัก นอกจากนี้หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายควรจะร่วมมือกันเพื่อช่วยส่งเสริมและเผยแพร่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนอย่างแท้จริง สามารถสร้างสถาบันการเงินที่เป็นของคนในชุมชน และเพื่อการพัฒนาเศรษกิจในระดับชุมชนให้มีความเข้มแข็งต่อไป

Downloads