การจัดการสถานศึกษาของรัฐในเชิงธุรกิจ กรณีศึกษา : สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตภาคพายัพ

Authors

  • ดวงพร อ่อนหวาน อาจารย์ประจำคณะวิชาบริหารธุรกิจ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตภาคพายัพ
  • ทัศนีย์ สุวานิชวงศ์ อาจารย์ประจำคณะวิชาบริหารธุรกิจ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตภาคพายัพ
  • ลลิตพรรณ จรรย์สืบศรี อาจารย์ประจำคณะวิชาบริหารธุรกิจ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตภาคพายัพ

Abstract

บทคัดย่อ

            การจัดการสถานศึกษาของรัฐในเชิงธุรกิจ กรณีศึกษา สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตภาคพายัพ มีวัตถุประสงค์อยู่ 4 ข้อ คือ เพื่อศึกษาต้นทุนของการจัดการศึกษา เพื่อศึกษาทรัพยากรบุคคล เพื่อศึกษาความคิดเห็นของนักศึกษาที่มีต่อสถาบัน และเพื่อศึกษาความเห็นของนักศึกษาต่อปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกศึกษาต่อในสถาบัน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถาม เอกสารรายจ่ายตามแผน และข้อมูลจากแฟ้มประวัติบุคลากร โดยใช้สถิติเชิงพรรณนาในการวิเคราะห์ข้อมูล ผลจาการวิจัยมีดังนี้

            ส่วนที่ 1 การวิเคราะห์ข้อมูลต้นทุนของการจัดการศึกษา ปีงบประมาณ 2543 ผลของการศึกษา พบว่า ค่าใช้จ่ายรายหัวของนักศึกษา มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการรายหัวเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุด คณะวิชาออกแบบอุตสาหกรรมมีค่าใช้จ่ายรายหัวของนักศึกษาสูงสุด คือ 39,682 บาท และคณะวิชาบริหารธุรกิจมีค่าใช้จ่ายรายหัวของนักศึกษาต่ำสุด คือ 21,967 บาท คณะออกแบบอุตสาหกรรมมีค่าใช้จ่ายดำเนินการรายหัวสูงสุด คณะวิชาโยธามีค่าใช้จ่ายลงทุนรายหัวสูงสุด และ ทุกคณะวิชามีค่าใช้จ่ายงบกลางรายหัวเท่ากัน

            ส่วนที่ 2 การวิเคราะห์ข้อมูลทรัพยากรของบุคคลของสถาบันปีการศึกษา 2543 พบว่า ผู้ปฏิบัติหน้าที่สอนมีจำนวน 379 ราย เป็นข้าราชการ 353 ราย ปฏิบัติหน้าที่สอนในคณะวิชาศึกษาทั่วไปมีจำนวนมากที่สุดคือ 55 ราย เป็นอาจารย์จ้าง 26 ราย ปฏิบัติหน้าที่สอนในคณะไฟฟ้ามีจำนวนมากที่สุดคือ 8ราย และพบว่าคณะวิชาบริหารธุรกิจมีสัดส่วนนักศึกษา : ผู้ปฏิบัติหน้าที่สอนในคณะสูงสุด คือ 38 : 1 คณะวิชาออกแบบอุตสาหกรรม มีสัดส่วนนักศึกษา : ผู้ปฏิบัติหน้าที่สอนในคณะต่ำสุดคือ 10 : 1 ในขณะที่สัดส่วนภาพรวมทั้งวิทยาเขตนักศึกษา : ผู้ปฏิบัติหน้าที่สอนอยู่ที่ 15 : 1

            ส่วนที่ 3 การวิเคราะห์ข้อมูลนักศึกษาสถาบัน ปีการศึกษา 2543 ผลการศึกษาพบว่านักศึกษากลุ่มตัวอย่างมีความคิดเห็นต่อสถาบัน ด้านสถานศึกษาและด้านวิชาการอยู่ระดับมากทุกข้อส่วนความคิดเห็นด้านกิจกรรมและอนาคตของนักศึกษามีความคิดเห็นส่วนใหญ่อยู่ในระดับมาก

            ส่วนที่ 4 การวิเคราะห์ข้อมูลนักศึกษาสมัครสอบเข้าศึกษาต่อในสถาบัน ปีการศึกษา 2543 ผลการศึกษาพบว่านักศึกษากลุ่มตัวอย่างมีความคิดเห็นต่อปัจจัยที่มีผลในการตัดสินใจเลือกศึกษาต่อในสถาบัน ด้านสถานการณ์ศึกษาส่วนใหญ่มีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนปัจจัยด้านอื่นๆส่วนใหญ่มีความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก

Downloads