ผลิตภาพของการเกษตรที่สูงในศูนย์พัฒนาโครงการหลวง Productivity of Highland Agriculture in Royal Project Development Centers

Authors

  • เบญจพรรณ เอกะสิงห์ ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตร และศูนย์วิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เชียงใหม่
  • ธันยา พรหมบุรมย์ ศูนย์วิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตทางเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เชียงใหม่

Abstract

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้ได้มีการศึกษาถึงผลิตภาพ และความหลากหลายของพันธ์พืชและแหล่งของรายได้ที่เป็นเงินสดของระบบเกษตรที่สูง นอกจากนั้นยังได้มีการศึกษาความเสมอภาคระหว่างเกษตรกรที่เป็นและไม่เป็นสมาชิกโครงการหลวง โดยดูสัดส่วนของครัวเรือนที่อยู่ภายใต้เส้นความยากจน งานวิจัยนี้ได้ดำเนินในหมู่บ้านซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทั้ง 4 แหล่ง คือ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย และแม่แฮในจังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพระบาทห้วยตุ้ม ในจังหวัดลำพูน เก็บข้อมูลในระดับครัวเรือน จำนวน 256 ตัวอย่าง โดยใช้แบบสอบถามในปี พ.ศ.2543 และเก็บข้อมูลการผลิตในปี 2542/43 โดยสุ่มครอบคลุมทั้งเกษตรกรที่เป็นและไม่เป็นสมาชิกโครงการหลวง และสุ่มตามฐานะ รวย ปานกลาง จนผลการศึกษา แสดงให้เห็นว่า ศูนย์ฯหนองหอย จะมีผลิตภาพสูงสุดเมื่อวัดรายได้ต่อครัวเรือนต่อ ปี (88,262 บาท) แต่เมื่อวัดโดยใช้รายได้ต่อคนต่อปีจะเห็นว่าที่ศูนย์ฯ แม่แฮสูงสุด (13,375บาท) ทั้งนี้ขึ้นกับจำนวนสมาชิกเฉลี่ยต่อครัวเรือน ยิ่งจำนวนสมาชิกเฉลี่ยต่อครัวเรือนสูง ค่าเฉลี่ยของรายได้ต่อคนต่อปีก็จะยิ่งน้อย ที่ศูนย์ฯ พระบาทห้วยตุ้ม พบว่าเกษตรกรมีรายได้ทั้งหมดต่อครัวเรือนต่อปีและต่อคนต่อปีต่ำสุด (37,211 บาทต่อครัวเรือนต่อปี และ 7,476 บาทต่อคนต่อปี) เกษตรกรมีรายได้ส่วนใหญ่จากนอกฟาร์ม เช่น รับจ้าง ทอผ้า และตีเครื่องเงิน เป็นต้น คิดเป็นประมาณร้อยละ 60 ของรายได้ทั้งหมดของครัวเรือนต่อปี โดยเฉลี่ยครัวเรือนเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของโครงการหลวงมีรายได้สุทธิจากการขายพืชมากกว่าเกษตรกรที่ไม่ได้เป็นสมาชิกโครงการหลวงอยู่ประมาณ 20,000 บาท/ครัวเรือนต่อปี นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ที่เป็นสมาชิกโครงการหลวงมีสัดส่วนของครัวเรือนที่อยู่ภายใต้เส้นความยากจนน้อยกว่ายู่ที่ไม่เป็นสมาชิกประมาณร้อยละ 20 ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า การดำเนินงานส่งเสริมการปลูกพืชใหม่ๆ เพื่อการค้าของโครงการหลวง ค่อนข้างประสบผลสำเร็จในการเพิ่มรายได้ต่อหัวของประชากรที่อยู่ภายในศูนย์ แต่อย่างไรก็ตาม ครัวเรือนเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ศึกษาก็ยังมีรายได้สุทธิทั้งหมดที่เป็นเงินสดของครัวเรือนเกษตรกรจากในและนอกฟาร์มเฉลี่ยต่อคนต่อปีต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในระดับประเทศ

Downloads